ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐศาสตร์สมัยใหม่เริ่มด้วยการศึกษาความชั่ว เพราะเชื่อกันว่า “ความชั่ว” จะปกครองมนุษย์ได้

ตรงกันข้ามกับรัฐศาสตร์สมัยเก่าในยุคกรีก ที่ศึกษา “ความดี” คือหาผู้ปกครองที่ดีและระบอบการปกครองที่ดีเป็นหลัก อย่างที่เพลโตพบว่า “ราชาปราชญ์ – Philosophy King” หรือ “ผู้นำผู้ชาญฉลาด” คือผู้ปกครองที่ดีที่สุด ในขณะที่ระบอบการปกครองที่ดีก็คือ “อภิชนาธิปไตย – Aristocracy” หรือการปกครองโดยคณะบุคคลที่มีคุณวุฒิอันสูงส่งและ “ทรงความยุติธรรม”

ฝรั่งมะงุมมะงาหราหา “คนดี – การเมืองดี” มาได้กว่าสองพันปี (ยุคเพลโตก็คือก่อนคริสตศักราชประมาณ 400 ปี) พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 แมคเคียเวลลี่ (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1469 – 1527) ข้าราชการพเนจรชาวอิตาลีก็นำเสนอ “ความคิด” เพื่อการปกครองแผ่นดินให้กับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง โดยหวังที่จะได้เข้ารับราชการเป็น “ปราชญ์หลวง” (ตำแหน่งน่าจะคล้าย ๆ เนติบริกรที่รอผ่าตัดเปลี่ยนไตคนหนึ่ง) ความคิดที่เขาเสนอนั้น นักรัฐศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นความคิดที่ “ชั่วร้ายสุด ๆ” เพราะเป็นข้อเสนออันไร้ศีลธรรม ทั้งยังมุ่งทำร้ายศัตรูหรือเป้าหมายให้ย่อยยับ

แต่แมคเคียเวลลี่ก็ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งรัฐศาสตร์ยุคใหม่” ไม่ใช่ด้วยความคิดอันชั่วร้ายของเขา แต่เป็นด้วย “วิธีการศึกษา” ที่เขานำมาสู่วิชารัฐศาสตร์ นั่นก็คือการศึกษาแบบ “ข้อมูล - ความจริง” (Data & Facts) แทนที่การศึกษาแบบ “อารมณ์ - ความฝัน” (Emotion & Dream) แบบกรีก หรือ “รัฐศาสตร์เก่า” เมื่อกว่าสองพันปีนั้น โดยแมคเวลลี่ได้นำประวัติศาสตร์ของชาติต่าง ๆ ร่วมกับ “ภูมิรัฐศาสตร์” คือ ขนาด ทำเลที่ตั้ง และทรัพยากรของแต่ละชาติเหล่านั้น (ขอให้สังเกตคำว่า “ชาติ” เพราะในสมัยก่อนคำว่า “ประเทศ” ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยนี้) แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ แมคเคียเวลลี่ได้นำเสนอเรื่อง “ภาวะผู้นำ” (Leadership) คือคุณสมบัติต่าง ๆ ของคนที่จะเป็นผู้ปกครอง อันเป็นการศึกษาที่เจาะลึกเข้าไปในตัวมนุษย์ วิธีการแบบนี้ได้ถูก “ต่อยอด” จากนักปราชญ์อื่น ๆ ทั่วยุโรป นั่นก็คือการศึกษา “ธรรมชาติของมนุษย์” อันนำมาสู่แขนงหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งก็คือวิชา “พฤติกรรมการเมือง” ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ รวมถึง “รัฐศาสตร์อนาคต” ที่กำลังเจาะลึกลงไปในทุกพฤติกรรมของมนุษย์อย่างละเอียดยิบย่อย ที่เรียกว่า “Pixel Politics” เพื่อให้เข้าใจทุก “อณู – Pixel” การกระทำในทางการเมืองของทุกผู้ทุกคน

ตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชารัฐศาสตร์ใน พ.ศ. 2519 วิชาที่นิสิตชอบใจและ “ติดใจ” กันมาก ๆ ก็คือวิชาที่อาจารย์ท่านสอนด้วยคำพูดที่ดุเดือด (อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ด่าเช็ด” นั่นแหละ) ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมท่านต้องสอนแบบนั้น พอผู้เขียนมารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใน พ.ศ. 2531 แรก ๆ ก็สอนแบบเปิดตำราบรรยาย โดยเตรียมเนื้อหามาเป็นอย่างดี แล้วก็บรรยายอย่างละเอียดไปตามสิ่งที่เตรียมมานั้น ก็สังเกตว่านักศึกษาไม่ค่อยให้ความสนใจอะไรนัก จนแทบจะท้อและไม่อยากเตรียมการสอนให้ดีอย่างทีเคยทำ กระทั่งพยายามคิดหา “ไอดอล” ผู้สอนที่เราเคยติดใจในสมัยก่อน ก็เลยเกิด “ปิ๊ง” แล้วทดลองสอน เพียงแค่นาทีแรกก็เรียกเสียงฮือฮาและไม่เห็นว่าจะมีนักศึกษามานั่งหลับหรือคุยกันในนาทีต่อ ๆ ไปนั้นแต่อย่างใด

พอสอนไปได้สักสองสามเทอมก็ชักจะอายแก่ใจตนเอง ไม่ใช่เพราะมีศีลธรรมจัดจนไม่อยากด่าใคร แต่เป็นเพราะว่าด่าจนเหนื่อยก็ไม่มีอะไรดีขึ้น (หมายถึงการเมืองในยุคนั้นที่โกงกินกันมากจนรัฐบาลตอนนั้นมีชื่อเรียกว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต”) จึงมาวิเคราะห์ตนเองว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็พบว่าที่นักศึกษาสนใจมาเรียน(คือนั่งฟังอย่างสนุกสนานและมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างแข็งขัน) ก็เพราะอยากมา “ร่วมด่า” นักการเมืองและข้าราชการชั่ว ๆ นั่นเอง ก็เลยทำให้นึกถึงคำพังเพยไทย “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” อ๋อ คนเราชอบการด่ากันนี่เอง ผู้เขียนจึงเริ่มจัดเตรียมการสอนใน “แนวด่า” นี้ เพียงแต่ไม่เน้นสนุกเอามันเหมือนก่อน โดยเน้นสอนเรื่อง “ความชั่ว” ของคน ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ในฐานะที่คนเหล่านี้เป็น “ผู้ปกครอง”

ต่อมาในช่วง “หน้าเหลี่ยมและหางแดงครองเมือง” กลุ่มผู้ปกครองที่มีอำนาจและไป “รังแก” คนกลุ่มดังกล่าว ถูกเรียกว่า “อำมาตย์” ที่มีการผูกโยงไปถึงพ่อค้านายทุนและผู้มีอิทธิพลในวงการต่าง ๆ กระทั่งเชื่อมโยงไปจนถึง “ชนชั้นสูง” ต่างฝ่ายก็ชำแหละความชั่วของกันและกัน เป็นที่สนุกสนานเมามันในกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย เกิดศึก “เหลือง - แดง” ใน พ.ศ. 2548 - 2549 มีการชำแหละความชั่วของแต่ละฝ่ายกันกลางถนน สิ่งนี้ทำให้ทัศนคติในการสอนรัฐศาสตร์ของผู้เขียนเปลี่ยนไปบ้าง โดยมองว่าเอาเข้าจริง ๆ ผู้ปกครองที่ชั่วและเลวไม่ได้มีแต่นักการเมืองและข้าราชการ (อันนี้รวมทหารแล้วนะครับ) เพราะแม้แต่ “ราษฎร” บางจำพวกนั้นก็ร่วมใน “กระบวนการความเลว” นั้นด้วย โดยถูกชักจูงให้เข้าร่วมขบวนการของความเลวในแต่ละฝ่าย สุดท้ายก็ทำให้บ้านเมือง “เลวทรามต่ำช้า” อย่างที่เห็น

ครั้งหนึ่งในช่วงที่ผู้เขียนเป็นคณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ ได้พาคณะอาจารย์ไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้เขียนได้แอบไปเห็นสื่อการสอนวิชาหนึ่งทำเป็นแผ่นดิสก์ บนแผ่นพิมพ์เป็นรูปเจียงไคเช็ค เลยแอบถามอาจารย์ชาวจีนที่นำชมมหาวิทยาลัยว่า มันคืออะไร เขาก็เลยอธิบายว่า นี่คือความเลวของผู้ปกครองจีนในยุคจะสิ้นราชวงศ์ เช่นเดียวกันกับที่ต่อมาไปเยือนประเทศไต้หวัน เขาก็พาไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเขา ในพิพิธภัณฑ์นั้นก็มีแต่ของที่นำ(ลักลอบหรือขโมย)มาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ในตอนที่เจียงไคเช็คและพรรคพวกหลบหนีมาอยู่บนเกาะกลางทะเลนี้ พร้อมกับไกด์นำชมที่บรรยายถึงความเลวของผู้ปกครองจีนในยุคก่อนนั้นเช่นกัน

ต่อมาในช่วงที่ กปปส.เดินขบวนขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (พ.ศ. 2556 - 2557) ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปช่วยปราศรัยบนเวทีหลายแห่ง ได้สังเกตเห็นว่าผู้ปราศรัยแต่ละคนจะเน้นลีลา “ด่าทอ” แบบการหาเสียงเลือกตั้งทั้งสิ้น ผู้เขียนเลยพยายามเปลี่ยนแนว โดยหาวิธีนำความชั่วต่าง ๆ ของระบอบทักษิณทั้งตัวการและผู้เกี่ยวข้อง มาเทียบเคียงของบุคคลต่าง ๆ ในวรรณคดีหรือในประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรู้จัก เช่น ความชั่วของทศกรรฐ์ ความชั่วของศรีธนญชัย และความชั่วของผู้นำไทยในอดีตบางคน ก็ดูจะได้รับความสนใจพอสมควร

เรื่องของความชั่วน่าจะเป็นเหมือนยาปฏิชีวนะหรือ anti-body คือยิ่งด่าก็ยิ่งเหมือนจะไปสร้างภูมิคุ้มกันให้ไอ้คนที่ถูกด่า แต่ก็จำเป็นครับ เพราะอย่างน้อยก็ขอให้ด่ามันไป “ชั่วลูกชั่วหลาน” ชั่วจนสิ้นตระกูลนั่นแหละ