ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าผมได้มีโอกาสพูดถึงปัญหา “โลกเดือด” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความรุนแรงในโลกยุคปัจจุบัน วันนี้ผมจะขอเล่าให้อ่านกันกับอีกปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมสมัยใหม่ และต้องบอกว่ามีความรุนแรงและมีผลกระทบมหาศาลเช่นกัน ปัญหานั้นคือ...ปัญหาสุขภาพจิต ครับ

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในปัญหาที่ดูท่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นบวกกับโลกที่หมุนเร็วทำให้ทุกอย่างเร่งรีบ ไม่ว่าจะในด้านการเรียน การใช้ชีวิต และการทำงาน เคยสังเกตไหมครับว่า สมัยนี้จะทำอะไรสักอย่าง แหม มันต้องทั้งดีทั้งเร็ว ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ กดดันไปเสียทุกอย่าง นี่ยังมินับปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆที่เป็นปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลให้เกิดความเครียดแก่ผู้คนอีกนะครับ เฮ้อออออ....พูดแล้วเครียด เห็นไหมครับ ผู้เขียนยังเครียดเลย

ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่คนในสังคมประสบพบเจอ และแน่นอนมันนำมาซึ่ง “ความเครียด” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตเวช (Mental disorder) ซึ่งก็จะมีผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์และพฤติกรรมของบุคคล

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชราวๆ 2.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงกว่า 12 % และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกๆปีในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคเครียด หรือโรควิตกกังวลอื่นๆ และพบว่าในจำนวนนี้กว่า 1.5 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยปัญหาสุขภาพจิตสามารถพบได้ทั้งในเด็กและเยาวชน วัยกลางคน ตลอดจนผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าครบทุกช่วงวัย

ในส่วนของผลกระทบของปัญหา แน่นอนว่ามีด้วยกันหลายมิติ อาทิ การสูญเสีย ผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงผลกระทบต่อองค์กรและประเทศชาติในภาพรวม ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ และด้านนโยบาย จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราวๆ 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 592 ล้านล้านบาท ในปี 2030 ที่จะถึงนี้ เห็นตัวเลขแล้วก็ต้องบอกว่าตกใจ เพราะอาจจะมากกว่าความเสียหายจากการก่อการร้าย ความขัดแย้ง หรือสงครามบางเหตุการณ์ด้วยซ้ำ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดอัตราส่วนของจิตแพทย์ต่อประชากรหนึ่งแสนคนไว้ที่ 1.7 ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีอัตราที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่ 47.47 ญี่ปุ่น 12.55 เป็นต้น ส่วนประเทศไทยของเรานั้น ยังอยู่ที่ราวๆ 1.28 ซึ่งถือว่ายังน้อยและยังจำเป็นต้องพัฒนา

ทุกท่านครับ จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆเลยครับ และประเทศไทยยังต้องการการพัฒนาในหลายมิติเพื่อแก้ปัญหานี้

ประการแรก เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า การจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องของหมอเพียงอย่างเดียวครับ หากเราจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว เราจะไม่มีวันแก้ปัญหานี้ได้เลย เพราะการพบจิตแพทย์คือการแก้ปัญหาที่ค่อนมาทางปลายทางแล้วครับ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด (ไม่ต่างจากโรคอื่นๆ) คือการ “ไม่ป่วยดีที่สุด” ครับ ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องรับมือร่วมกันตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “มุมมอง”

สิ่งแรกที่ต้องช่วยกันทำให้ได้ คือการเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้พร้อมๆกับการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่มองว่า “คนมีปัญหาสุขภาพจิต = คนบ้า” เพราะนี่คือแนวคิดที่ผิดและเป็นแนวคิดที่ขัดขวางการแก้ปัญหาในภาพรวม เวลาพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเห็นภาพว่า “ต้องเดินแก้ผ้ากลางถนน” ส่งผลให้การพบแพทย์หรือการเข้ารับการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสุขภาพจิต ก็คือการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ตลอดช่วงชีวิต ไม่ต่างกับการเป็นหวัดหรือท้องเสีย ช่วงไหนเจอความเครียดเยอะก็อาจจะเป๋ได้ แต่ก็หายได้เช่นกันถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

ดังนั้น ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้เปลี่ยนความคิดร่วมกันครับ ต่อไปนี้ “ปัญหาสุขภาพจิต ≠ บ้า”

ช่วยกันกระจายแนวคิดนี้ออกไปในวงกว้างครับ หากครอบครัวและสังคมโดยรอบ ทั้งสถานศึกษาและที่ทำงาน มีบรรทัดฐานทางสังคมอันเดียวกันเช่นนี้ ก็อาจทำให้ผู้คนในสังคมนั้นเปิดรับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งปันความรู้ ตลอดจนเกิดมาตรการป้องกันและสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพจิตกับใคร คนคนนั้นก็จะกล้าที่จะเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เชื่อว่าจะลดความเสี่ยงการสูญเสียใดๆที่อาจตามมาได้อย่างมีนัยสำคัญ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมมองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ “ทุกคน” ในสังคมต้องช่วยกันแก้

เรื่องสุดท้ายที่จำเป็นต้องพัฒนา ก็คงหนีไม่พ้นด้านบุคลากรทางการแพทย์ครับ จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรายังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในด้านนี้เพราะผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขและสถานศึกษาต่างๆต้องร่วมมือร่วมใจกันหาทางออก ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะมีบุคลากรทางการแพทย์ในด้านนี้มากขึ้นเพื่อพร้อมรับมือกับปัญหาในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี

ก่อนจากกันก็ต้องบอกว่า “ปัญหานี้ ไม่เล็กนะครับ” และต้องรีบเริ่ม รีบพัฒนาร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันในการแก้ไขครับ

เอวัง