รศ.ดร..สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ผมเชื่อว่า “อนาคต” เรากำหนดได้เอง ทำไม? ผมถึงเชื่อ!!!
เพราะผมเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าต้องการสร้างอนาคต ก็ต้องกล้าเปลี่ยน แต่ถ้าประกอบกับมีคนสนับสนุนและโชคช่วยเสริมอีกทางหนึ่งด้วยก็อาจทำให้อนาคตเป็นจริงเร็วขึ้น แต่สิ่งสำคัญอย่ามองข้ามการคงอยู่หรือการรักษาเมื่อไปถึงจุดของอนาคตที่เรากำหนดแล้ว เพราะข้อคิดบางประการจากหนังสือ Build the Life You Want ที่เขียนโดยอาเธอร์ ซี. บรูคส์ (Arthur C. Brooks) และ Oprah Winfrey (โอปราห์ วินฟรีย์) ที่สรุปโดย ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์ นักเขียน Bestseller และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ และ การบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเอาไว้ว่า “ความสุขไม่ใช่เป้าหมาย แต่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง และความทุกข์ก็ไม่ใช่ศัตรู และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ถ้าเราต้องการมีความสุข และถ้าเราไม่ชอบอดีตของเรา ให้เขียนอดีตของเราใหม่”
นอกจากนี้ ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ยังได้เคยสะท้อนไว้ในข้อเขียนเรื่อง “บทเรียนชีวิตจากประสบการณ์ของนภดล ร่มโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิด OKRs” ที่เป็นข้อบ่งชี้อันชัดเจนว่า “อนาคต” เรากำหนดได้เอง จริง!!! (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.thekommon.co/nopadol-rompho/) ดังนี้
“ชีวิตคนเราเหมือนกับการเดินทาง ถ้าไม่คิดอะไรมากเราเดินทางไปแบบไม่มีเป้าหมายก็ได้ เหมือนเวลาไปเที่ยวจะมีคนสองแบบ แบบแรกคือมีเป้าหมายว่าจะไปเชียงใหม่และวางแผนเดินทางไปให้ถึง ส่วนคนอีกแบบคือไม่รู้จะไปไหนแต่ขับรถเที่ยวไปเรื่อย ๆ ต้องถามตัวก่อนว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีใครถูกใครผิดแต่ผมเลือกแบบแรก ไม่มีใครคอนโทรลชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมอยากมีเป้าหมายในชีวิต”
“ขอยกตัวอย่างชีวิตจริงของตัวเอง ผมอยากเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ถ้าไม่มีเป้าหมายชีวิตผมอาจจะสอนไปวัน ๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องตำแหน่ง แต่การมีเป้าหมายทำให้เรารู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ถ้ามีใครมาชวนไปเป็นที่ปรึกษาองค์กรผมจะปฏิเสธหมด เพราะมัน Distract ผมจากตำแหน่งศาสตราจารย์ สิ่งที่ผมต้องทำคืองานวิจัย แล้วผมไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น ผมจะให้ความสำคัญกับการทำวิจัยก่อน เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นโอกาสชีวิตที่ดีได้ค่าตอบแทนสูงมันยังไม่ใช่ ณ ตอนนี้ พอเราชัดเจนสุดท้ายชีวิตก็ไปถึงจุดที่เป็นศาสตราจารย์ได้ คนที่ไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของเขา”
สำหรับผมยังเชื่อว่า "จงทำให้ดีที่สุด" หรือ "จงก้าวต่อไป" ซึ่งตรงกับคำว่า "Ganbatte" หรือ "กันบัตเตะ” ศิลปะญี่ปุ่นแห่งการก้าวไปข้างหน้าเสมอ" (The Japanese Art of Always Moving Forward) เขียนโดยอัลเบิร์ต ลีเบอร์มันน์ (Albert Liebermann) ที่บอก
เล่าถึง เรื่องราวในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความไม่แน่นอน ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นกลายเป็นทักษะที่มีค่าอย่างยิ่ง
ปรัชญากันบัตเตะของญี่ปุ่นเป็นแนวทางชีวิตที่ลึกซึ้งสอนให้มนุษย์เผชิญหน้ากับอุปสรรคด้วยความมุ่งมั่นและความอดทน โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุด แก่นแท้ของกันบัตเตะคือ จิตวิญญาณแห่งความอุตสาหะและ
ความมุ่งมั่น ซึ่งส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพยายามอย่างเต็มที่โดยไม่คำนึงถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญ ทัศนคติเช่นนี้ส่งเสริมความยืดหยุ่นและเป็นแนวทางเชิงรุกในการแก้ปัญหา รากฐานสำคัญของปรัชญานี้อยู่ที่แนวคิดของ "ไคเซ็น" หรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า
การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว สำหรับสิ่งที่โดดเด่นของปรัชญากันบัตเตะคือ
การเปิดรับความล้มเหลว โดยมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ แทนที่จะท้อแท้กับความล้มเหลว กันบัตเตะกลับสนับสนุนให้มนุษย์มองว่าความล้มเหลวคือโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว
นอกจากนี้ ปรัชญากันบัตเตะยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของวินัยและความสม่ำเสมอ โดยระบุว่าความสำเร็จมักเป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง มากกว่าการทำกิจกรรมเพียงช่วงสั้น ๆ การพัฒนากิจวัตรและความยึดมั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวและป้องกันความเหนื่อยหน่าย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญากันบัตเตะคือ การมีสติและการมุ่งเน้นในปัจจุบันขณะ ด้วยการฝึกสติให้อยู่กับลมหายใจและการกระทำในขณะนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเครียดได้ ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ การมีเป้าหมายและความหมายในชีวิตที่ชัดเจนซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เราก้าวต่อไปด้วยความมุ่งมั่น
ในสังคมญี่ปุ่นจิตวิญญาณกันบัตเตะได้รับการส่งเสริมภายในชุมชน โดยผู้คนต่างก็ให้กำลังใจและสนับสนุนซึ่งกันและกันให้มีความพากเพียรเพื่อความสำเร็จ การมีเครือข่ายสนับสนุนที่เข้มแข็งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างแรงจูงใจและรักษาความมุ่งมั่นของแต่ละบุคคล และที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือความกตัญญูและการฝึกฝนการมีทัศนคติเชิงบวก การมองเห็นคุณค่าของความพยายามและความสำเร็จเล็ก ๆ น้อยๆ รวมถึงการรักษาทัศนคติที่มีความหวังต่อตนเองและผู้อื่น จะช่วยรักษาแรงจูงใจและส่งเสริมความรู้สึกเป็นอยู่ที่ดี
"Ganbatte! ศิลปะญี่ปุ่นแห่งการก้าวไปข้างหน้าเสมอ" ของลีเบอร์มันน์เป็นงานที่ให้ข้อมูลอันลึกซึ้งเกี่ยวกับปรัชญากันบัตเตะซึ่งเป็นแนวทางสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผสมผสานความมุ่งมั่น ความยืดหยุ่น การมีสติ และทัศนคติเชิงบวก โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้ ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค และมุ่งมั่นก้าวต่อไปด้วยความพยายามอย่างเต็มที่
แต่ที่แน่ ๆ อาจจะ “ไม่แน่” ก็ได้นะครับ ลองติดตาม รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดี ม.สวนดุสิต จะมาจิบกาแฟและ คุยกับเราเรื่องนี้ วันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่ ม.สวนดุสิตอีกครั้งดีกว่าครับ!