เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยเป็น “เซลล์แมน” เดินทางไปชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศต่างๆ มาลงทุน และกลับมารายงานว่าทุกฝ่ายสนใจ แต่ไล่หลัง กูเกิ้ลเตรียมไปลงทุนที่มาเลเซีย 2,000 ล้านเหรียญ (72,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค

ทำนองเดียวกับที่ไปจับมือกับบิล เกตต์ที่ดาวอส จีบมาลงทุน ไมโครซอฟต์กลับประกาศไปลงทุนที่มาเลเซีย 2,200 ล้านเหรียญ (80,000 ล้าบาท) แบบเดียวกับกูเกิ้ล และ Nvidia บริษัทชิฟ ยักษ์ใหญ่โลกก็ประกาศไปลงทุนที่มาเลเซีย 4,300 ล้านเหรียญ (155,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเอไอ

ก่อนหน้านั้น นายอัลวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาลเซียประกาศ “ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ” ด้วยการทุ่มทุนฝึกอบรม “วิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ชาวมาเลย์ที่มีทักษะสูง” จำนวน 60,000 คน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต

มาเลเซียยังประกาศจัดสรรเงินอย่างน้อยปีละ 25,000 ล้านริงกิต หรือ 190,000 ล้านบาท ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อฝึกอบรมทำให้มาเลเซียเป็นฮับการผลิตชิพโลก รวมทั้งจะทุ่มเงินลงทุนอีกราว 500,000 ล้านริงกิต หรือราว 4 ล้านล้านบาท ทั้งเงินลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ

เวียดนามประกาศที่ดาวอสเมื่อต้นปีนี้ว่า มีบุคลากรที่จบอาชีวะ วิศวะ 500,000 คน รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และประกาศว่าจะลงทุน 1,000 ล้านเหรีญ (36,000 ล้านบาท) เพื่อฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คน ซึ่งกระทรวงแผนงานและการลงทุนคาดว่า จะทำให้เกิดรายได้ให้ประเทศ 15,000 – 16,000 ล้านเหรียญ (550,000-570,000 ล้านบาท)

มาเลเซียและเวียดนามมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการที่สัมพันธ์กันหมดบูรณาการงานกระทรวงต่างๆ เพื่อให้ได้ “คน ความรู้ ระบบ” ที่พร้อมรองรับการลงทุน

เพียงแค่การเดินทางไปชักชวนใครต่อใครมาลงทุนคงไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ประเทศไทย แต่ให้เครดิตแก่บริษัทที่มีคนระดับนายกรัฐมนตรีไปติดต่อขอให้มาลงทุน ซึ่งโดยมารยาท ทุกคนก็ “สนใจ” กันทั้งนั้น แต่พวกเขามีข้อมูลก่อนแล้วว่า ประเทศไทยมี “ศักยภาพ” ที่จะรองรับมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

อีกอย่าง พวกเขาคงไม่เคยเห็น “วิสัยทัศน์” ของผู้นำไทย และติดตามข้อมูลข่าวสารการเมืองไทยก็รู้ว่า มีวัฒนธรรมการเมืองแบบไหน ไม่มีความมั่นคง นายกฯ จะอยู่กี่วันกี่เดือนก็ไม่รู้ มีแรงงานทักษะสูงเท่าไร จีดีพีก็ ต่ำสุดในอาเซียน แทนที่บริษัทต่างชาติใหม่จะเข้ามาลงทุน ที่มีอยู่ก็ทยอยย้ายออกจากประเทศไทย

"วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการปฏิบัติคือฝันกลางวัน การปฏิบัติที่ปราศจากวิสัยทัศน์คือฝันร้าย" 

“คน ความรู้ ระบบ” เป็นคำหลักสำคัญที่เป็นพื้นฐานการสร้างวิสัยทัศน์ และเป็นกรอบเกณฑ์ตัวชี้วัดให้ต่างชาติมาลงทุน จึงไม่แปลกที่เขาเลือกไปมาเลเซีย ไปเวียดนาม แทนที่จะมาไทย

การศึกษาไทย คนจบมหาวิทยาลัยตกงาน แต่การประกอบการใหญ่น้อยกลับขาดแรงงาน ไม่มีนโยบาย ไม่เห็นยุทธศาสตร์พัฒนาแรงงาน รัฐบาลได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แจกเงิน ทำโครงการระยะสั้น คงไม่คิดว่าตนเองจะอยู่ยาว จึงทำอย่างไรให้ตนเองและพรรคได้ประโยชน์มากกว่า

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็มีโครงการหลายอย่าง มีแผนแก้ปัญหาหนี้ครู แต่ไม่เห็นแผนแก้ปัญหาการศึกษา คุณภาพการศึกษา คิดแต่ว่า ครูมีหนี้ ไม่มีกำลังใจทำงาน ทั้งๆ ที่ครูมีเงินเดือนสูง

รัฐบาลไหนมาจึงไม่เห็น “วิสัยทัศน์” ไม่เห็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะวางรากฐานให้สังคมไทย ไม่คิดว่าจะ “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบ” อย่างไร จึงจะให้สังคมไทยพัฒนาในระยะยาว และให้คนมาลงทุน

เรื่องซอฟพาวเวอร์ ก็เอาแต่ขายของเก่า เด็ดยอดภูมิปัญญาเหมือนที่เคยทำกับโอทอป อยากเป็นฮับเป็นครัวอาหารโลก แต่ไม่มีแผนพัฒนาการเกษตร ทั้งคน กระบวนการผลิต ปริมาณและคุณภาพ อาหารอินทรีย์ การวิจัยอาหาร พืชผักสมุนไพร ผลไม้ คุณค่าอาหารไทย

ไม่มียุทธศาสตร์ส่งเสริมร้านอาหารไทย ร้านค้าผลิตภัณฑ์เกษตรไทยในต่างประเทศ ไม่ได้วางเป้าหมายว่า กี่ปีจะส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทยให้ได้กี่แห่ง เชฟกี่คน ไม่ได้ฝึกอบรม ให้มีหลักสูตรคนทำอาหารได้มาตรฐานสากลในกระทรงต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่สัมพันธ์กับการส่งเสริมในต่างประเทศ

ยังเรื่องนวดไทย เรื่องมวยไทย เรื่องการทำสมาธิและอื่นๆ ที่อ้างว่าเป็นซอฟพาวเวอร์ ยังไม่เห็นว่า มีแผนการพัฒนา “คน ความรู้ ระบบ” อะไรเพื่อเป็นฐานเป็นฮับ อย่างที่มาเลเซีย เวียดนามเขาทำกัน

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน นายเดวิด บลังเคตต์ รัฐมนตรีศึกษาของสหราชอาณาจักร ที่พิการทางสายตา แต่มีวิสัยทัศน์และแผนการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจน “มองเห็น” ปัจจุบันและอนาคตของประเทศว่า มีมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก แต่การศึกษาภาคประชาชนไม่ดี ทำให้เศรษฐกิจของประเทศล้าหลัง

นายบลังเคตต์เสนอแผนปฏิรูปการศึกษาให้รัฐบาลโทนี แบลร์ ซึ่งอนุมัติเงินกว่าสามแสนล้านบาทให้เขานำชาวสหราชอาณาจักรมาเรียนใหม่ ให้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ และปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

นายโทนี แบลร์บอกว่า “ถามผมสิว่า สามอย่างที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลผมคืออะไร ผมจะตอบว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา” เช่นเดียวกับที่นายเบนจามิน ดิสราเอลี (1804-1881) อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร  ที่บอกว่า “ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน” เพราะ “การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า” (เบนจามิน แฟรงคลิน)

เมืองไทยไม่ใช่สังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ ทั้งผู้นำ ทั้งรัฐบาล จึงไม่ใช้ความรู้ ใช้แต่อำนาจกับเงิน จึงคิดอะไรทำอะไรอย่างการแจกเงิน การทำโครงการเบี้ยหัวแตกแทนที่จะสร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบ

แทนที่จะจัดงบประมาณส่งเสริมงานวิจัยอีกสักหลายแสนล้าน เพื่อสร้างความรู้ พัฒนาแรงงานทักษะสูง สร้างระบบ ก็เลือกให้แต่ยาแก้ปวด ให้ผลระยะสั้น แก้ไขที่ปลายเหตุ โดยไม่วิเคราะห์วิจัยโรคาพยาธิสภาพ ที่ต้องรักษาผ่าตัด แก้ไขที่ต้นเหตุ