รศ.ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้จัดกิจกรรม SDU SMARTS#1 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทั้งสายวิชาการสายสนับสนุน และสายบริการนำเสนอไอเดียที่ตนเองสนใจ หากไอเดียไหน “โดน” มหาวิทยาลัยก็จะ “ช้อป” และส่งเสริมให้มีการแปลงไอเดียนำไปสู่การปฏิบัติจริงภายใต้คำแนะนำดูแลจากพี่เลี้ยง (Mentor) ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานายกสภามหาวิทยาลัย “ดร.ถนอม อินทรกำเนิด” ให้เกียรติมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับสถานการณ์อุดมศึกษา” (The phenomenon of higher education) ให้กับ SDU SMARTS รวมถึงอาจารย์และบุคลากรที่สนใจ การบรรยายครั้งนี้ ดร.ถนอม เล่าถึง “แนวโน้มอันจะนำไปสู่แผ่นดินไหวในระดับอุดมศึกษา (Trend Earthquake in Higher Education)” พร้อมแนวทางการรับมือของสถาบันอุดมศึกษา อ้างอิงจาก The Economist ปี 2014 (2557) ซึ่งยังคงทันสมัยด้วยเป็นสัญญาณเตือนภัย “Emergency Alarm” ให้กับสถาบันอุดมศึกษาต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย ประกอบด้วย

1) วิกฤตการณ์ทางการเงิน (Funding Crisis) นำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งต้องปิดกิจการลง ในขณะที่บางแห่งต้องควบรวมกับมหาวิทยาลัยอื่น สาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมากในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการก่อสร้างอาคารสถานที่ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง

ปัจจุบันวิกฤตทางการเงินประเด็นค่าจ้างบุคลากรมหาวิทยาลัย พบว่ามีสัดส่วนงบประมาณสูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึง
งบสวัสดิการต่าง ๆ บางมหาวิทยาลัยสัดส่วนงบเงินเดือนบุคลากรสูงถึงร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด มหาวิทยาลัยก็จะเข้าสู่
“วิกฤตล้มละลาย” จึงต้องมีมาตรการลดงบประมาณในส่วนนี้ เช่น ระงับการขึ้นเงินเดือน เลิกจ้าง หรือให้ทำงานบางเวลา ทั้งนี้วิกฤตทางการเงินจะกลายเป็น "โรคร้ายทางค่าใช้จ่าย" เพราะมหาวิทยาลัยอาจต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังนักศึกษา โดยปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมการศึกษาส่งผลให้เกิดภาวะ "เงินเฟ้อทางการศึกษา" ตามมา 2) กระแสโลกาภิวัตน์และระบบอัตโนมัติ (Globalization & Automation) กระแสโลกาภิวัตน์และการพัฒนาของระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ถึงร้อยละ 47 ซึ่งครอบคลุมถึงภาคการศึกษาที่มีเทคโนโลยีทางการศึกษา (Technification of Education) เกิดขึ้นมากมาย เช่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ การเรียนรู้แบบจำลองสถานการณ์เสมือนจริง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผลกระทบเชิงลบที่ตามมาคือ สถาบันการศึกษาก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และ 3) การเพิ่มขึ้นของทางเลือกทางการศึกษา (The Rise of Alternative Credentials) วันนี้การศึกษาเปิดกว้างให้เรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ในขณะที่ความนิยมของการศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีเริ่มลดลง แต่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม (Training) เพื่อรับใบรับรองสมรรถนะหรือวิชาชีพ (Credential/Certificate) ซึ่งมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพมากกว่าใบปริญญา

จากสัญญาญเตือนภัยอุดมศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายมิติและต้องมีการปรับตัวให้ทัน สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ประกอบด้วย

1) คุณภาพทางการศึกษา (Quality at the Core) คุณภาพถือเป็นแกนหลักในการรับประกันว่าทุกมิติของมหาวิทยาลัยทั้งด้านการสอน การวิจัย หรือการบริหารจัดการ ต้องดำเนินการอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม เชื่อมโยงข้อมูลทุกระบบเข้าด้วยกัน และใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานการตัดสินใจ

2) ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว (Speed of Operations) กิจกรรมและภารกิจทุกด้านของมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยยกระดับการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการลดหรือตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก

3) เปิดโอกาสทางการศึกษา (Universal Access) การเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้าศึกษาต่อได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยวางระบบนิเวศการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ที่ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีให้แก่ผู้เรียน พร้อมให้การช่วยเหลือทางด้านการเงินและทุนการศึกษา

4) สร้างความประทับใจแรกเข้า (Better Onboarding) ความประทับใจแรกเข้ามีผลต่อการตัดสินใจเข้าศึกษาของนักศึกษาจนจบการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความประทับใจแรกเข้า เช่น การแนะนำทรัพยากรการศึกษาต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ การจัดกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และความรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา
ตอนปลายเข้ากับระดับอุดมศึกษาเพื่อความราบรื่นและความสำเร็จในการปรับตัว

5) จัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาก่อนจบการศึกษา (Early Guidance in Career Planning) การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และพัฒนาทักษะของนักศึกษา รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนที่นักศึกษาจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน

6) เสริมสร้างธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การมีธรรมาภิบาลที่ดีถือเป็นการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

7) สร้างความเติบโตของมหาวิทยาลัย (Scaling up) มหาวิทยาลัยสามารถสร้างความเติบโตได้โดยเพิ่มจำนวนหลักสูตรหรือรายวิชาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน รวมถึงเพิ่มจำนวนอาจารย์ผู้สอนที่มีคุณภาพซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เรียน

8) ขยายจำนวนวิทยาเขต/ศูนย์การศึกษา (Multicampus Operations) การขยายจำนวนวิทยาเขตหรือศูนย์การศึกษาเพิ่มเติม โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Campus Management System) เชื่อมโยงการดำเนินงานให้เป็นระบบเดียวกันในทุกวิทยาเขตหรือศูนย์การศึกษา

9) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Better Stakeholder Experience) การนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ
ผู้มีส่วนได้เสียมาใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยและการพัฒนาหลักสูตร

10) การบริหารความเสี่ยง (Risk and Turnaround Time) การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผลเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง โดยมุ่งเปลี่ยนความเสี่ยงให้กลายเป็นโอกาส

11) ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Resource Optimization) การออกมาตรการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างประหยัด คุ้มค่า และสร้างประโยชน์สูงสุด 

12) ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า (Cost-effectiveness) ความคุ้มค่าถือเป็นข้อพิจารณาสำคัญสำหรับการเติบโตของสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้น จึงควรมีการตรวจสอบการดำเนินงานภายในเกี่ยวกับงบประมาณและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่าและประหยัดต้นทุน

เพื่อความคงอยู่ของสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันสู้ และก้าวให้ข้าม
“ภัยอุดมศึกษา”ที่ถาโถมอย่างต่อเนื่อง เป็นกำลังใจให้กับผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรในแวดวงอุดมศึกษาไทย