เหมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด นั่นก็คือสถานการณ์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่จู่ๆนายกรัฐมนตรี ก็ติดบ่วงของศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว เหมือนละครหลังข่าว เพราะรู้ทั้งรู้ว่า ตั้งรัฐมนตรีสายล่อฟ้าแต่ก็เดินหน้าท้าทาย
แม้สถานการณ์ของนายกรัฐมนตรีจะลุ่มๆดอนๆ หวังพึ่งปรมาจารย์กระบี่มือหนึ่งด้านกฎหมาย มาช่วยปลดล็อก แต่ในส่วนงานบริหาร โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนฟ้าอากาศ อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทำกิน หรือปากท้องของพี่น้องประชาชน ก็ยังต้องดำเนินต่อไป
วันก่อน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการคาดการณ์ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด ห่วงใยประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ได้สั่งการทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมความพร้อมและจัดทำแผนรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นและเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด
นายชัย อ้างอิงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณและการกระจายของฝนน้อยและส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ และในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยสูง ซึ่งส่งผลให้ฝนตกหนัก สภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่
ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นตามที่ได้รับมอบหมาย โดยได้กำหนดร่างการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่
1) การป้องกันและเตรียมความพร้อม ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการน้ำ การสำรองเมล็ดพันธุ์ เสบียงอาหารสัตว์ และเครื่องจักรและเครื่องมือ การสร้างความเข้าใจกับความเสี่ยง
2) การเผชิญเหตุและการหยุดยั้งความเสียหาย เช่น การเร่งระบายน้ำ การสนับสนุนเรือตรวจการและเจ้าหน้าที่
3) การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม อาทิ การสำรวจและประเมินความเสียหาย การจัดหน่วยเคลื่อนที่ การบำบัดน้ำเสีย และการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา ควบคู่กับการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ ตลอดจนกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในช่วงฤดูฝน
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เป็นปัญหาประจำฤดูกาล จำเป็นที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอกชน ภาคประชาสังคมและพี่น้องประชาชนต้องตื่นตัว ตระหนักร่วมกัน ในการป้องกันและแก้ไข พร้อมทำงานสอดประสานกันไม่ใช่เล่นกันคนละคีย์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน