เกิดเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศ 2 เหตุการณ์ห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ จากกรณีสิงคโปร์จากกรณีเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ลอนดอน-สิงคโปร์ ตกหลุมอากาศลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บหลายราย และล่าสุดกรณีสายการบิน กาตาร์ แอร์เวย์ส เที่ยวบินจากกรุงโดฮามายังไอร์แลนด์ ตกหลุมอากาศแม้จะสามรถลงจอดที่หมายคือสนามบินดับลิน แต่เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บ 12 ราย
อย่างไรก็ตาม มีการข้อมูลจาก ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายถึงความสัมพันธ์ภาวะโลกร้อนกับกรณีเครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นแม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งไว้ว่า
1.โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศาฯ จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม. อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้นจึงไปทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง 16 กม. จากผิวโลกที่เรียกว่าลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400กม.ต่อ ชม. และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วยทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่านแรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหันและเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลงซึ่งเรียกว่าการตกหลุมอากาศ (Air Pocket)
2.โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าตั้งแต่ปี 1979 ถึงปี 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดย ตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ
หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาฯ ซึ่งเรียกว่า "สภาวะโลกเดือด" อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% จากปี 2023 แม้ในขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม
น่าสนใจ ในแง่ของการปรับตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการป้องกันอุบัติภัย รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม บรรเทาภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้ ที่อันตรายของภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏชัดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เราจะรักสิ่งแวดล้อมกันแต่ปากไม่ได้แล้วกระมัง