รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
จากบทความ "Charting a New Path for Your Organization: The 4Ps" ที่เขียนโดย Mr. Chris Stamper ในนิตยสารออนไลน์ Forbes India กล่าวถึงกรอบการทำงานสำหรับองค์กรเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ที่จะช่วยให้องค์กรปรับตัวและบรรลุความสำเร็จในระยะยาวว่าอิงอยู่กับองค์ประกอบหลักสี่ประการ ได้แก่ วัตถุประสงค์ (Purpose) การแสดงตน/การมีตัวตน (Presence) การปรับเปลี่ยนในแบบของตนเอง (Personalization) และการป้องกัน (Protection)
วัตถุประสงค์ เป็นองค์ประกอบแรกที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่องค์กรต้องกำหนดเป้าหมายและค่านิยมใหม่ในยุคปกติใหม่
(New Normal) ซึ่งการระบุวัตถุประสงค์หลักและภารกิจขององค์กรที่ชัดเจนและหนักแน่น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีความสอดคล้องและทำงานไปสู่วัตถุประสงค์ร่วมกัน
การแสดงตน/การมีตัวตน เป็นองค์ประกอบที่สองมุ่งให้ความสำคัญของการมีสถานะที่แข็งแกร่งและมองเห็นได้ชัดเจนในตลาด รวมถึงการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้สม่ำเสมอ มีส่วนร่วมกับลูกค้า/ผู้รับบริการ และเข้าถึงได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ
การปรับเปลี่ยนในแบบของตนเอง เป็นองค์ประกอบที่สามเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่องค์กรต้องปรับแต่งข้อเสนอและบริการให้เหมาะกับลูกค้า/ผู้รับบริการแต่ละราย การปรับเปลี่ยนในแบบของตนเองนี้เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความต้องการและความชอบของลูกค้า/ผู้รับบริการ และการมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลเพื่อสร้างความภักดีและการรักษาลูกค้า/ผู้รับบริการ
การป้องกัน เป็นองค์ประกอบสุดท้ายซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นขององค์กรในการปกป้องทรัพย์สิน ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลของตนในยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและรับรองการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ
ข้อเขียนข้างต้นสอดคล้องกับทัศนะและมุมมองของ รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่กล่าวว่า “องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิตและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศและสังคม ดังนั้น การทบทวนพันธกิจ วิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและสังคมได้อย่างแท้จริง”
เช่นเดียวกับ “สวนดุสิตโพล” ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ต้องมีความเป็นพลวัตสูง เนื่องจากมีบทบาทสำคัญด้านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหลากหลายประเด็นในรูปแบบที่เรียกว่า “โพล” สวนดุสิตโพลจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของสังคม ปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานจากการมองหรือโฟกัสเพียงแค่ข้อมูล “ตัวเลข” ผ่านผลสำรวจความคิดเห็นมาเป็นการนำเสนอมุมมองและแนวคิดที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และกลายเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่น่าเชื่อถือและยอมรับในระดับสูง
สวนดุสิตโพลมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนภายนอก เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยการนำประเด็นที่น่าสนใจและทันสมัยมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังให้ความสนใจ และนำไปสู่การปฏิบัติจริง “PollInsights2Action”
การมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต้องไม่ใช่ข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เพิ่มขึ้นมาในการดำเนินงานสวนดุสิตโพล บทบาทของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะแบบดั้งเดิมยังคงมีความสำคัญ แม้จะอยู่ในยุคของ AI ก็ตาม เนื่องจากการสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด พร้อมตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีและครอบคลุมจะช่วยให้การวัดและการทำความเข้าใจความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ
นอกจากนี้ สวนดุสิตโพลไม่อาจเพิกเฉยต่อการเพิ่มขึ้นของช่องทางโซเชียลมีเดียที่ทำให้การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ
ขยายบทบาทโดยการจัดหาเครื่องมือและวิธีการใหม่ในการวัดความคิดเห็นสาธารณะ แม้ว่าวิธีการสำรวจแบบเดิม ๆ ยังคงมีคุณค่า แต่การวิเคราะห์ทางโซเชียลมีเดียสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ เพิ่มการเข้าถึงได้ และความคุ้มค่า ด้วยการบูรณาการวิธีการเหล่านี้ผสมผสานเข้าด้วยกันจะทำให้ได้รับข้อมูลที่มีความครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนและทำการตัดสินใจอย่างมีข้อมูล
มากขึ้น
สวนดุสิตโพล อาจยกระดับองค์กรให้มีบทบาทเป็น “Decision Intelligence” ที่เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทฤษฎีการตัดสินใจ สังคมศาสตร์ และศาสตร์การจัดการ เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจขององค์กร โดยพยายามเป็น ส่วนหนึ่งของการจัดการความท้าทายใหม่โดยการควบคุมข้อมูล (Harnessing data) รวมถึงการผลิต/สร้างข้อมูลเชิงคาดการณ์ เพื่อแปลงข้อมูลให้เป็นทรัพยากรที่สามารถดำเนินการได้และลดเส้นทางจากข้อมูลไปสู่การตัดสินใจ
ภาพรวมทิศทางและเป้าหมายที่สวนดุสิตโพลต้องมุ่งไปสู่อนาคต นั่นคือ...การปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการสำรวจและวิจัยตามรูปแบบเดิมไปสู่การเป็นองค์กรชั้นนำทางด้านวิชาการที่สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพและเป็นแหล่ง องค์ความรู้สำคัญของประเทศ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงานของบุคลากร ทุกระดับ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรมที่เปิดกว้างต่อการรับมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อนำพาสวนดุสิตโพลก้าวไปสู่โมเดลใหม่ที่มีจุดหมายปลายทางเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน