ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ครั้งยังมีชีวิตอยู่ ฯพณฯ สวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรีคนปักษ์ใต้สายเลือดชาวปัตตานี เคยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตให้ผู้เขียนฟังว่า ครอบครัวของ ฯพณฯ สวัสดิ์ เป็นคนปัตตานีดั้งเดิม ต้นตระกูลคือจางวางโทหลวงสำเร็จกิจกร ห้วงวัยเยาว์ท่านเริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนในพื้นที่ จ.ปัตตานี แล้วไปต่อระดับมัธยมในเมืองกรุง ก่อนตัดสินใจศึกษาต่อที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 2 ปี ไปซ้ำชั้นต่อชั้นมัธยมปลายที่ Wilbraham Academy มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา และเรียนต่อที่ M.I.T. (Massachusetts Institute of Technology) จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. 2501 จากนั้นเดินทางกลับเมืองไทย ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดจึงตัดสินใจกลับไปพำนักอยู่ที่ จ.ปัตตานี รวม 3 ปี จากนั้นตัดสินใจไปทำงานที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัดใน กทม. ในฐานะผู้จัดการแผนกประกันเครื่องจักร กระทั่งที่สุดชีวิตหักเหมาเป็นข้าราชการที่กรมชลประทาน ณ ที่นี้เองที่ชะตาชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ด้วยฝีไม้ลายมือและความสามารถทำให้ชีวิตรับราชการไต่อันดับสู่จุดสูงสุดเป็น “อธิบดีกรมชลประทาน” และมีโอกาสได้เริ่มรับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องยุคลบาท เมื่อครั้งติดตามอธิบดีแสวง พูลสุข ไปในพื้นที่ชายแดนใต้ประมาณปี พ.ศ.2514-2518 ในฐานะฝ่ายดูแลเครื่องจักรกลหนัก ฯพณฯ สวัสดิ์ วัฒนายากร ย้อนความหลังครั้งนั้นว่า ขณะนั้นเป็นช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโครงการพระราชดำริเป็นโครงการแรก ช่วงที่พระองค์เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปภาคใต้ คือ โครงการพรุบาเจาะ แล้วมีโครงการอื่นตามมาอีกหลายโครงการ ขณะนั้นเป็นช่วงเหตุการณ์ทางพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ค่อนข้างรุนแรง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสมัยนั้นออกมาเคลื่อนไหวกันมาก แต่ไม่ค่อยทำร้ายเจ้าหน้าที่ กลับทำร้ายประชาชน ถึงขั้นเคยเข้ามาจับพ่อค้าในตลาดนราธิวาสไปเรียกค่าไถ่ ไม่ให้ก็โดนฆ่า อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปเยี่ยมเยียนราษฎรทุกปี “พรุบาเจาะสมัยนั้นพูดได้ว่าเป็นที่ซ่อนแห่งหนึ่งของพวกก่อความไม่สงบ แต่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรเกือบทุกวัน เราก็ใจไม่ดี พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงงานในพื้นที่ที่อันตรายมาก แล้วเวลาพระองค์ท่านเสด็จฯ กลับมักจะเป็นเวลาค่ำ เส้นทางที่ผ่านเป็นถนนลูกรังฝุ่นตลบ ราษฎรมาตั้งโต๊ะบูชารับท่าน ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม มาคอยอยู่ตั้งแต่เย็นกระทั่งค่ำ สองทุ่ม สามทุ่ม พระองค์ท่านทรงโปรดให้ขบวนจอดทุกครั้ง ถนนมืดมิดไฟไม่มีเลย ต้องเอาไฟฉายส่อง ชาวบ้านที่รอรับเสด็จฯ จะถวายผลไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว เงาะ ทุเรียน ผลไม้ ตามประเพณีของชาวปักษ์ใต้ พระองค์ท่านทรงแวะรับทุกจุดไม่มีเว้น ผมดูแล้วหน่วยรักษาความปลอดภัยคงยากที่จะถวายอารักขา หากจะมีคนคิดไม่ดีกับพระองค์ท่าน แต่ด้วยพระบารมีโดยแท้ที่พระองค์ท่านได้ทรงตรากตรำทรงงานเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทยโดยไม่เลือกศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ จึงไม่มีราษฎรคนไหนที่จะไปคิดร้ายต่อพระองค์ท่านแน่นอน” ตลอดระยะเวลา 3 ปีเศษขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2535 ฯพณฯ สวัสดิ์ ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด เนื่องเพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงงานอยู่ตลอด โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขนาดใหญ่อยู่มากมาย กระทั่ง ฯพณฯ สวัสดิ์ เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2538 พร้อมกับมีภาพที่ตราตรึงอยู่ในใจมิรู้ลืมอยู่มากมาย เช่นครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรบ้านโคกกุแว โคกอิฐ โคกใน บ้านยูโย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หมู่บ้านเหล่านี้อยู่บริเวณขอบพรุโต๊ะแดง ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความยากจนของชาวบ้าน รับสั่งถามราษฎรถึงปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีพอย่างละเอียด ราษฎรจำนวนมากที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้บรรเทาลงแล้วจากโครงการพรุโต๊ะแดงของพระองค์ท่าน แต่มีปัญหาสำคัญคือน้ำเปรี้ยวที่มาจากพรุ ทำให้ปลูกข้าวได้เพียง 10-15 ถังต่อไร่ ไม่พอกิน ปัญหาน้ำเป็นกรด หน่วยราชการยังไม่เคยแก้ไขได้ เพราะการใช้ปูนมาลใส่ในนาจะสิ้นเปลืองมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานขุดคลองนำน้ำจืดจากโครงการมูโนะมาล้างดินเปรี้ยว ส่วนบ้านยูโยให้สร้างรางนำน้ำจากคลองสุไหงปาดีมาให้ และให้กระทรวงเกษตรฯ แนะนำช่วยเหลือในด้านความรู้ ด้านวิชาการ แก่ราษฎร “ปีต่อๆ มา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เยี่ยมหมู่บ้านเหล่านี้อีก สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน มีบ้านใหม่เกิดขึ้นหลายหลัง ต้นข้าวในนาเขียวชอุ่มกำลังออกรวงสมบูรณ์เต็มที่ ราษฎรที่มารอเฝ้าหน้าตายิ้มแย้ม กราบบังคมทูลกันอย่างพร้อมเพรียงว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นมาก สบายแล้ว ปลูกข้าวได้ 50-60 ถังต่อไร่ทุกปี ผลไม้พืชผลอื่นๆ ก็ดีตามด้วย วันนั้นผมสังเกตเห็นว่าตลอดเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามทุกข์สุขราษฎรอยู่นั้น สีพระพักตร์ของพระองค์ท่านอิ่มเอิบเบิกบานที่ผมต้องจดจำไปตลอดชีวิต ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงมีความสุขไปยิ่งกว่าความอยู่ดีกินดี รอดพ้นจากความยากจนของพสกนิกรของพระองค์ท่าน เมื่อท่านหันพระพักตร์มาที่พวกเราที่ตามเสด็จแล้วรับสั่งว่า “ฉันดีใจมาก” ” หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ฯพณฯ สวัสดิ์ ได้รับมหาพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น “กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา” ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “องคมนตรี” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 “นับว่าเป็นสิ่งที่เกินฝันของผม ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณถึงขั้นนี้ ตอนที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลอย่างใหญ่หลวงแล้ว ยิ่งมาถึงจุดนี้ยังงงอยู่เป็นเดือน ต่อจากนั้นมานอนอีกหลายคืนตื่นมานึกว่า เอ๊ะ เราฝันไปหรือเปล่านี่ เป็นสิ่งที่เกินฝัน ไม่เคยอยู่ในสมอง ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ นี่แหละคือชีวิตของเด็กปัตตานี เด็กบ้านนอก เป็นคนปักษ์ใต้ มีพื้นเพอยู่แถวยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา เกิดมาไม่เคยทะเยอทะยาน ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะเป็นอะไรสักอย่าง ก็มาถึงจุดสุดยอดของชีวิต นับว่าเป็นบุญอย่างสูงยิ่งที่ผมได้มาถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน แล้วก็นับว่าเป็นบุญจะได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทไปจนชีวิตจะหาไม่” ฯพณฯ สวัสดิ์ วัฒนายากร กลายเป็นองคมนตรีคนปักษ์ใต้คนหนึ่งที่ชีวิตยังคงผูกพันกับถิ่นเกิด ทุกคราครั้งที่มีเวลาว่าง มักจะเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดและเที่ยวท่องไปในพื้นที่ต่างๆ บางครั้งก็มาปฏิบัติภารกิจในฐานะ “องคมนตรี” ได้พบปะผู้คนต่างศาสนิกที่ยังคงรักใคร่กลมเกลียวผูกพัน ทั้งในฐานะเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิทมิตรสหาย เห็นร่องเงาชีวิตที่หมุนเวียนผันผ่านวารวันเคลื่อนพ้นรอยทางที่ได้เคยย่ำ ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยโรคมะเร็งในหลอดลม รวมอายุ 77 ปี 5 เดือน เรื่องราวในชุด “รายอกีตอ ในหลวงของเรา” ผ่านสายตาและการบอกเล่าของผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ผู้เขียนตั้งใจเรียบเรียงขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ศาสนา และดอกผลของการทรงทุ่มเทเพื่อพสกนิกรของพระองค์ในรูปลักษณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ได้สร้างคุณประโยชน์และก่อความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณให้เติบโตเบ่งบานอยู่ในหัวใจผู้คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินชายแดนใต้ตราบกระทั่งทุกวันนี้