ณรงค์ ใจหาญ ตั้งแต่อดีต คนใช้สัตว์เป็นอาหาร นำมาใช้แรงงาน นำเป็นสัตว์เลี้ยง และเมื่อสัตว์นั้น ตายลงก็นำขน หนัง หรือกระดูกมาทำเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ แต่ในบางกรณี นำสัตว์มาแข่งขัน เพื่อการกีฬา หรือการพนัน เป็นต้น ส่วนอีกกรณีที่คนนำสัตว์มาใช้เกี่ยวกับการทดลองเพื่อค้นหายาที่ใช้ในการรักษาโรค เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สัตว์ มีประโยชน์แก่คนมากมาย และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตนด้วย แต่ในทางกฎหมายนั้น สัตว์ป่า ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของ แต่ได้รับการอนุรักษ์ตามหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่สัตว์ที่คนนำมาเลี้ยง เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของ คนที่เป็นเจ้าของมีสิทธิใช้สอยและหวงกันได้ แนวความคิดในกฎหมายจึงมองว่าสัตว์เป็นสิ่งที่คนครอบครองเป็นเจ้าของได้ เว้นแต่จะมีการสงวนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ทั้งในประเทศ และการคุ้มครองสัตว์ป่าหายากซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นเมื่อเป็นเจ้าของสัตว์แล้ว เจ้าของสามารถดำเนินการอย่างใดๆ แก่สัตว์ของตนเองได้ เพราะถือเป็นทรัพย์ของตน จะทิ้ง ทำลาย ก็ไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ หรือไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่ถ้าไปทำลายสัตว์ของผู้อื่น หรือสัตว์ป่า ก็จะมีความผิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือเป็นความผิดอาญา หากได้กระทำโดยเจตนาทำลายสัตว์ของผู้อื่น หรือสัตว์ป่า แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่คุ้มครองสัตว์ในฐานะเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือเป็นทรัพย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ต้องการสงวนรักษาไว้ในคงอยู่อย่างยั่งยืนตามแนวคิดในเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ดี แนวคิดในปัจจุบันที่มองสัตว์ในฐานะที่มีสิทธิเป็นของตนเอง ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ถูกทรมาน หรือการกระทำใดๆ ที่คนเข้ามาเกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้สัตว์ได้รับการทุกข์ทรมาน หรือถูกทำให้ตายอย่างทารุณแม้ว่าจะเป็นการฆ่าไปเพื่อประกอบอาหารก็ตาม แนวคิดนี้จึงแยกสิทธิของสัตว์ออกจากความเป็นทรัพย์ของคน ดังนั้น แม้เป็นเจ้าของสัตว์ หรือเลี้ยงดูสัตว์นั้นมา หรือซื้อสัตว์นั้นมาเลี้ยงก็ต้องปฏิบัติต่อสัตว์โดยมีพื้นฐานที่จะต้องดูแล รักษา และให้มีสวัสดิภาพตามหลักเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องนี้ จากแนวคิดที่ให้สัตว์มีสิทธินี้เอง จึงมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ หรือการทดลองในสัตว์เกิดขึ้นโดยมีพื้นฐานว่า การเลี้ยงดู การดูแลสัตว์ที่เจ้าของนำมาเลี้ยงนี้ ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ด้วยเพราะสัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวด เหงา ต้องการไปเดินเล่น และได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับสภาพของสัตว์แต่ละประเภท รวมถึงต้องการการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยด้วย ซึ่งสิทธิเหล่านี้ หากเป็นมนุษย์ก็ได้รับการประกันจากหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่สำหรับกรณีของสัตว์ได้มีแนวคิดที่จะได้รับประกันสิทธิของสัตว์เช่นเดียวกัน ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ของไทยและในบางประเทศ ยอมรับการนำสัตว์มาแข่งขันกีฬา เช่น ตีไก่ ชนวัว หรือกรณีของวัวกระทิง เป็นต้น การนำสัตว์มาแข่งขันในลักษณะเช่นนี้ถือว่า เป็นการทรมานสัตว์หรือไม่ สำหรับกฎหมายไทย เห็นว่าทำได้ และเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่เป็นความผิดฐานกระทำทรมานสัตว์ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในบางประเทศ ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์มาแข่งขันต่อสู้กันแล้วแม้ว่าเดิมจะถือเป็นการกีฬาก็ตาม กรณีนี้เป็นวิวัฒนาการของการคุ้มครองสิทธิของสัตว์ซึ่งเดิมเคยถือว่า การล่าสัตว์เป็นกีฬา ต่อมา ถือว่าการล่าสัตว์ป่าเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นการพัฒนาสิทธิในการนำสัตว์มาต่อสู้กันจึงขึ้นอยู่กับพื้นฐานแนวคิดในเรื่องจารีตประเพณีในแต่ละประเทศที่จะยกเลิกหรือยอมรับว่าทำได้หรือไม่ ข้อห้ามอีกประการหนึ่งคือการนำสัตว์มาทดลอง เป็นกรณีที่ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ จะนำสัตว์มาทดลองยาก่อนที่จะนำมาใช้ในคน กรณีนี้ มีกฎหมายควบคุมการนำสัตว์มาทดลองเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายวางกรอบการทดลองว่า จะต้องไม่เป็นการกระทำที่ทำให้สัตว์ต้องตายโดยไม่จำเป็น จึงควรมีการวางแผนในการทดลอง และกำหนดว่าสัตว์ที่จะนำมาทดลองนี้ จะต้องไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเปลือง ยาที่นำมาทดสอบจึงต้องมีการทดสอบในเบื้องต้นก่อนว่าไม่เป็นอันตรายเกินไป ผู้วิจัยต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ด้วย กรอบทางกฎหมายทั้งสองกรณีถือว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่ให้การคุ้มครองสัตว์อีกก้าวหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สัตว์มีความแตกต่างจากคน เพราะ การทดลองในมนุษย์ กฎหมายกำหนดให้ได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะถูกทดลอง และมีการชี้แจงถึงผลกระทบ แต่ในการทดลองในสัตว์ ไม่ได้มีการแจ้งเช่นนั้นกับสัตว์เพราะสัตว์ไม่อาจเข้าใจได้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับการคุ้มครองสิทธิของสัตว์ตามกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพ และการทดลองในสัตว์นั้นคือ ต้องมีองค์กรที่เข้ามากำกับดูแลหรือคุ้มครองสิทธิของสัตว์คอยสอดส่องดูแล ติดตามการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของสัตว์อันเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจากคนรักสัตว์เป็นสำคัญ มาตรการนอกเหนือจากนี้ คือ การสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจที่ดีในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์และการทดลองในสัตว์ในพื้นฐานว่าสัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดได้ และมีสิทธิแยกจากสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้การให้ความรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไป และการปฏิบัติที่ดีต่อสัตว์ในแต่ละชนิดย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะการเลี้ยงดูสัตว์ในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ สัตว์แพทย์หรือผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์ควรให้ข้อมูลเหล่านี่แก่ประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้เลี้ยงด้วย ข้อน่าคิดในเรื่องดังกล่าว คือ เคยมีคดีเกิดขึ้นว่า การที่คนใช้มีดฟันไปที่ปากสุนัขหนึ่งทีด้วยความโกรธที่มาเห่าใส่ตน จนทำให้สัตว์แพทย์ต้องเย็บถึง 100 เข็ม กรณีนี้ หากเป็นคนรักสัตว์ก็จะถือว่าเป็นการทำร้ายที่ทารุณโหดร้าย ถือเป็นการทรมานสัตว์ได้ แต่ในทางกฎหมาย เคยมีแนวทางที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับการทำร้ายคนโดยทรมานหรือทารุณโหดร้ายว่า ต้องเป็นการทำร้ายที่ทำให้คนได้รับการทรมานเจ็บปวด หรือการทำร้ายซ้ำๆ การที่ฟันไปครั้งเดียวแต่เป็นแผลใหญ่ต้องเย็บหลายเข็มเช่นนี้ หากถือตามแนวที่เคยวินิจฉัยจึงเป็นการทำร้ายธรรมดา ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ทารุณ หรือโหดร้ายแต่อย่างไร หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ การที่คนเป็นโรคจิต ต้องการความสุขทางเพศหากทำให้สัตว์ถึงแก่ความตายอย่างทรมาน เช่น การเหยียบกระต่ายจนตาย เป็นต้น ทำให้ตนเองมีความสุข กรณีนี้หากพิจารณาทางด้านจิตใจผู้รักสัตว์เห็นได้ว่า เป็นการทำให้สัตว์ตายอย่างทรมาน เพราะไปเหยียบจนขาดใจตาย แต่ถ้าพิจารณาดูว่า ถ้าเอาไม้ทุบหัวกระต่ายแล้วตายแทนที่จะเหยียบ จะถือเป็นการทำให้ตายอย่างทรมานหรือไม่ ตัวอย่างเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าจะนำมาพิจารณาและให้ความรู้กับประชาชนโดยทั่วไปว่าความรู้สึกของสัตว์ที่ถูกกระทำเช่นนี้ เป็นอย่างไร และกฎหมายเกี่ยวข้องกับสัตว์ควรกำหนดข้อห้ามและวิธีปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร จึงจะทำให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ถูกกระทำทรมานโดยมนุษย์ และได้รับสวัสดิภาพที่ดีไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู หรือการนำมาใช้งาน และการฆ่าเพื่อเป็นอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยสรุป กฎหมายได้พัฒนาแนวคิดในเรื่องสิทธิของสัตว์ไว้ก้าวหน้า เพียงแต่ยังมีปัญหาการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และการสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติต่อสัตว์ที่ดีกับประชาชน และต้องเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณชนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันอย่างแท้จริงต่อไป