ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาพลิกความคาดหมายของสื่อมวลชนตะวันตกนั้นคือ ความขัดแย้งระหว่าง “ทุนภาคการผลิต” Manufacture capital กับ “ทุนภาคการเงิน”
“ทุนภาคการเงิน” เป็นมายา ที่กำลังทำลายตัวระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเอง ดังที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหาในรอบทศวรรษนี้
กระแสความนิยมในการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนปัญหาเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน และก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า “ระบอบทุนนิยม” ยังมีความเข้มแข็งตรงที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้เร็ว
จุดแข็งของระบบทุนนิยมนั้น ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช สรุปไว้ว่า
“อะไรคือจุดแข็งของระบบทุนนิยม จุดแข็งเหล่านี้เห็นจะพอลำดับไว้ได้ดังต่อไปนี้
ระบบนี้ไม่เหมือนกับระบบอื่นในข้อที่ว่า เป็นระบบที่เสรี ซึ่งในภายในระบบอันเสรีนี้ คนจนมีโอกาสที่จะเป็นคนร่ำรวยได้ และด้วยการที่ระบบนี้ได้เคลื่อนเข้าสู่ระบบทุนนิยมของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โอกาสเช่นนี้ยิ่งมีมากขึ้น ในระบบศักดินานั้น ไพร่ไม่มีโอกาสจะได้เป็นเศรษฐี และในระบบวาณิชนิยม ผู้ที่จะร่ำรวยได้ก็มีแต่พ่อค้าเท่านั้น
ระบบนี้เป็นระบบที่มีประโยชน์ตอบแทนเป็นเครื่องล่อใจคนให้ทำงาน เพราะเหตุนี้ ระบบนี้จึงทำให้เกิดการทำงานที่ดีที่สุด
ระบบนี้มีผลทำให้มีการผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นระบบที่หันเข้าหาผู้บริโภค ไม่หันหลังให้ ความจริงข้อนี้ทำให้กล่าวได้อีกว่า ระบบนี้มุ่งการผลิตเป็นสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการผลิตแล้วการบริโภคก็มีไม่ได้
ระบบนี้เป็นเสมือนยาชูกำลังให้เกิดสรรถภาพ เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เปิดให้มีการแข่งขันกันทุกวิถีทาง บริษัทห้างร้านใดที่ไม่สามารถจะทำสรรถภาพของตนให้เข้าระดับเดียวกับคู่แข่งขันได้ ก็จะต้องเลิกล้มไป และด้วยเหตุที่ระบบนี้มีตลาดแรงงานอันเป็นเสรี นายจ้างคนใดคนหนึ่งจึงต้องแข่งขันกับนายจ้างคนอื่น ๆ ในอันที่จะให้ผลตอบแทนการทำงาน ตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะถูกใจคนงานมากกว่าของนายจ้างอื่น เช่นเดียวกัน คนงานนั้นเองก็จะมีกำลังใจในอันที่จะทำงานให้แก่บริษัทห้างร้านที่จ้างตนไว้ให้ได้ผลดีที่สุด
ระบบทุนนิยมสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างสูง”
ปัจจุบันระบบทุนนิยมเป็นกระแสหลักในเศรษฐกิจโลก เราจึงต้องยอมรับระบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนของเศรษฐกิจทางเลือกให้มากขึ้น ก็เป็นทิศทางที่ควรสนับสนุน ตัวอย่างรูปธรรมส่วนหนึ่งคือ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวความคิด “เศรษฐกิจทางเลือก” แบบอื่น ๆ