อาชญากรรมออนไลน์ เป็นภัยร้ายที่ทั่วโลกตระหนักร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีประเด็นที่น่าห่วงใย เมื่อนำไปสู่อาชญากรรมอื่น เช่น การฆ่าตัวตาย  ดังกรณีของภรรยาอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกหลอกลงทุน เสียหายไปกว่า 10 ล้านบาท

ขณะที่การหลอกลวงเหยื่อนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปต่างๆ ล่าสุด กรมสอบสวนกลางออกมาเตือน ถึงการ Tapjacking  คือ การรวมกันของ "tap" และ "jacking" เป็นการนำอีกหน้าต่างหนึ่งขึ้นมาวางหน้าจอซ้อนทับหรือเลียนแบบขึ้นมาในสิ่งที่เราต้องการจะคลิก ทำให้เราเผลอไปคลิกลิงก์ที่ซ่อนอยู่ หรือเว็บไซต์ ที่เลียนแบบขึ้นมาไม่ใช่หน้าเว็บนั้นจริง ๆ เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดมัลแวร์ , เปิดเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย และ Phishing ลวงข้อมูลส่วนบุคคล

ซึ่งมักจะพบเห็นได้บ่อย จากการเปิดลิงก์ต่างๆ แอดโฆษณาตามสื่อออนไลน์ หรือดูหนังเถื่อนจากเว็บต่างๆ และดาวน์โหลดเกมทั้งนอกและใน Store ที่เมื่อทำการคลิกอะไรสักอย่างจะขึ้นป๊อปอัพขนาดเล็กโผล่มาแป๊บเดียว หรือเด้งขึ้นมาอีกหน้าเว็บ และให้ยืนยันอนุญาตอะไรสักอย่างก่อน

ทั้งนี้ วิธีระวังและป้องกัน Tapjacking คือต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่คลิกหรือแตะบนลิงก์หรือปุ่มที่ดูน่าสงสัย   ตรวจสอบ URL เสมอ ก่อนคลิกลิงก์  ไม่ดาวน์โหลดอะไรนอก Store  ตั้งค่าปิด screen overlay หรือการอนุญาตให้แอปอื่นซ้อนหน้าจอบนมือถือ  หากเด้งหน้าเบราว์เซอร์อื่นที่ไม่คุ้นหรือไม่ได้เปิดเอง ให้ปิดหน้าเว็บนั้นทันที

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดเริ่มมาตรการใหม่ คือ เจ้าของเจ้าของบัญชีโมบายแบงก์กิ้งในมือถือ ต้องเป็นชื่อเดียวกับเจ้าของเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ซึ่งจะทำให้กลุ่มบัญชีม้าที่มิจฉาชีพซื้อไปใช้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ตรงกับเจ้าของบัญชีได้ และหากไม่ตรงกันก็จะไม่สามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้ ในกรณีข้อมูลไม่ตรงกัน ธนาคารจะแจ้งข้อความผ่านโมบายแบงก์กิ้งว่า ข้อมูลโทรศัพท์ไม่ตรงกับข้อมูลเจ้าของบัญชีจึงขอให้ผู้ใช้บริการไปลงทะเบียนที่ศูนย์บริการเพื่ออัปเดตชื่อให้ตรงกัน ถ้าข้อมูลตรงกันแล้วจะเปิดใช้โมบายแบงก์กิ้งตามปกติ แต่หากข้อมูลไม่ตรงกันและพ้นระยะเวลาที่กำหนด บัญชีธนาคารจะใช้ได้ตามปกติ แต่จะไม่สามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้

ถือว่าเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปราม เราคาดหวังว่า จะมาตรการต่างๆจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน