เสือตัวที่ 6
สมรภูมิสู้รบในสงครามช่วงชิงอำนาจรัฐของกลุ่มคนที่เรียกกันว่าขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น กลุ่มคนเหล่านี้มุ่งเอาชนะทางการเมืองกล่าวคือการใช้กระบวนการต่อสู้ทางความคิดเป็นสำคัญซึ่งการจะเอาชนะในกลยุทธ์การต่อสู้ทางความคิดนั้นจะมีเส้นทางที่ต้องหล่อหลอมกล่อมเกลาเพื่อสร้างกระแสชี้นำความคิดให้ร่วมเป็นแนวร่วมทางความคิดอย่างเป็นระบบที่เข้มแข็งในวงกว้าง โดยมีกระบวนการที่กระทำต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนระดับพื้นถิ่นทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มคนในชุมชนพื้นที่ท้องถิ่นนั้น กลุ่มขบวนการร้ายแห่งนี้จะใช้กระบวนการบ่มเพาะความคิดแปลกแยกเห็นต่างจากรัฐจนเกิดความคิดต่างอย่างสุดโต่งผ่านการหล่อหลอมชี้นำความเห็นทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เชิงบาดแผลเป็นหลัก สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักการเมืองทุกระดับนั้นขบวนการร้ายแห่งนี้จะใช้กระแสสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำคนเหล่านั้นเข้ามาร่วมกระแสการต่อสู้ทางความคิดอย่างสอดรับกับคนระดับพื้นถิ่นทั้งที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นแนวร่วมการต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐแห่งนี้
การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐซึ่งนำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อต่อต้านรัฐนั้น เป้าหมายการก่อเหตุร้ายทำลายความสงบสุขนั้นไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเอาชนะรัฐด้วยกำลังติดอาวุธ ด้วยศักยภาพของกองกำลังติดอาวุธไม่อาจเทียบได้กับกำลังติดอาวุธของรัฐได้เลย การใช้กำลังอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้จึงเป็นลักษณะลอบทำร้าย ลอบโจมตีฝ่ายรัฐอย่างกองโจรในสงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) พวกเขาไม่อาจเอาชนะรัฐด้วยกำลังอำนาจทางอาวุธ ดังนั้นการลงมือก่อเหตุร้ายทำลายความสงบสุขจึงหมายที่จะกระทำการเชิงสัญลักษณ์เพื่อท้าทายอำนาจรัฐและสื่อถึงการต่อต้านรัฐ ผ่านกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง (radicalization) ซึ่งเป็นพื้นฐานของกองกำลังติดอาวุธของขบวนการก่อการร้ายแห่งนี้ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหนุนเสริมการต่อสู้ทางการเมืองผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดในทุกเวทีที่เป็นไปได้ เพื่อเป้าหมายสำคัญคือมุ่งเอาชนะทางการเมือง ด้วยการทำลายความชอบธรรมของรัฐในทุกรูปแบบ เหล่านี้จึงเกิดปรากฏการณ์การจัดเวทีการเสวนาในพื้นที่ที่สอดรับกับการหนุนเสริมการให้อิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ในทุกมิติของการสู้รบ
การเอาชนะทางการเมืองของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐโดยการต่อต้านรัฐด้วยการสร้างกระแสแนวร่วมทางความคิดที่เสริมพลังขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอิสรภาพการปกครองกันเองของคนกลุ่มนี้ กระบวนการสร้างแนวร่วมมวลชนให้การสนับสนุนการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบ แนวร่วมมวลชนมีทั้งผู้ที่เข้าร่วมการต่อสู้อย่างตั้งใจโดยตรงในฐานะสมาชิกขององค์กร ผู้สนับสนุนทางวัตถุ และผู้ที่ให้ความเห็นใจ และรวมถึงแนวร่วมในต่างประเทศที่ให้การสนับสนุน อาทิ การจัดกิจกรรมเมื่อกลางปี 66 ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวองค์กร พร้อมปาฐากถาพิเศษ เรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี โดยมี อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับผู้แทนพรรคการเมืองบางพรรคที่มีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันกับขบวนการแห่งนี้เป็นกระแสข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศโดยผู้จัดกิจกรรมได้มีการประกาศ PELAJAR BANGSA ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ว่าพวกเขาเชื่อมั่นว่าการทำประชามติ คือสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ โดยมีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งว่าเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย
สิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่องการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่ากลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดเพื่อมุ่งประสงค์เอาชนะทางการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็นผ่านเวทีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุขหลายครั้งที่ผ่านมาที่ปรากฏว่า บีอาร์เอ็นเรียกประเทศไทยว่านักล่าอาณานิคมสยาม ทั้งในคำแถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และเอกสารข้อเรียกร้องที่ส่งถึงคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย เพื่อสร้างภาพให้เห็นว่าประเทศไทยคือเจ้าอาณานิคมดินแดนปาตานี หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังมีการต่อสู้ของเจ้าของดินแดนเดิมอยู่ในปัจจุบัน การกล่าวอ้างว่าสยามหรือรัฐไทยเป็นเจ้าอาณานิคม หรือนักล่าอาณานิคมนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 เรื่องการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมเพื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติแยกดินแดนผ่านข้อกำหนดของสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองหรือสิทธิการกำหนดใจตนเองนั่นเอง
กระบวนการการต่อสู้กับรัฐของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่มีกลุ่มบีอาร์เอ็นอ้าว่าเป็นผู้นำขบวนการร้ายแห่งนี้จึงมีความสลับซับซ้อนหลายมิติ ทับซ้อนกันหลายชั้น รวมทั้งเป็นกระบวนการลงมือที่มีชีวิตชีวาที่ไม่อาจมองข่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ไม่อาจวิเคราะห์มิติเดียวหรือชั้นเดียวได้ รัฐบาล นักวิชาการด้านความมั่นคง นักการทหารจึงต้องผนึกกำลังกันอย่างจริงจังเพื่อเจาะลึกกระบวนการคิด และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของขบวนการร้ายแห่งนี้ให้แจ่มชัดให้จงได้ รวมทั้งบริหารจัดการการต่อสู้ให้กระชับคล่องตัวเป็นหนึ่งเดียวในทุกองคาพยพเพื่อให้เท่าทันกับการต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้อย่างรวดเร็ว รัฐและหน่วยงานความมั่นคงต้องตระหนักรู้อย่างแจ่มชัดว่าขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐกลุ่มนี้กระทำอย่างใดก็เป็นเพียงปัจจัยหนุนเสริมเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์การมุ่งเอาชนะทางการเมืองเป็นสำคัญ