ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

สัปดาห์นี้ผมได้รับคำถามมาจากทางบ้านว่า “ประเทศประชาธิปไตยมีศักยภาพในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่?” และ “หากสองประเทศมีปัญหากัน ประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตย อีกประเทศหนึ่งเป็นเผด็จการ ประเทศเผด็จการจะสามารถรวบรวมทรัพยากรได้รวดเร็วกว่าและนำไปสู่ชัยชนะทุกครั้งหรือไม่?” ต้องขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับคำถามนะครับ สัปดาห์นี้ เราไปตอบคำถามนี้กันครับ

ถ้าว่ากันตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องของระบอบการปกครองกับความขัดแย้งก็มีการพูดถึงกันมาอย่างยาวนานภายใต้ร่มของ Democratic Peace Theory ที่มองว่า “ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วยกันจะไม่รบกัน” ซึ่งพอจะสรุปแนวคิดหลักๆให้เข้าใจง่ายๆภายใต้พื้นที่จำกัดได้ดังนี้

ในด้านอัตลักษณ์ แนวคิดนี้มองว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยจะมีความ “อ่อนโยน” มากกว่าเวลาดีลกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับแนวคิดเชิงสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ประเทศประชาธิปไตยด้วยกันมีแนวโน้มจะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เป็นเหตุผลรองรับในการบอกว่า...ทำไมประชาธิปไตยด้วยกันไม่รบกัน

ในด้านของโครงสร้างเชิงสถาบัน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะมีกลไกการควบคุมและกำกับดูแล รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจกับการตรวจสอบ (Check and Balance) เช่น โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรืออะไรก็แล้วแต่จะออกแบบกันในแต่ละระบบ นอกจากนี้ การใช้อำนาจของผู้นำยังถูกจำกัดด้วยความรับผิดรับชอบต่อประชาชน (Accountability) ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีจำนวนค่อนข้างใหญ่ (Winning Coalition) ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผลประโยชน์ของภาคเอกชน พรรคฝ่ายค้าน สื่อ นักวิชาการ ข้าราชการ และอื่นๆ การที่จะตัดสินใจเข้าสู่สงครามจึงทำได้ยากกว่าประเทศที่เป็นเผด็จการ เรียกว่าถ้าประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เอาด้วย ก็เตรียมตัวโดนด่าฉ่ำ และอาจเลยไปถึงขั้นโดนทัวร์จากกระบวนการทางกฎหมายต่างๆที่จะตามมาอีกบาน แตกต่างจากฟากฝั่งของเผด็จการที่หากมีอำนาจมาก การตรวจสอบ ความรับผิดรับชอบ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ย่อมน้อยกว่าหรืออาจไม่มีเลยในบางกรณี ทำให้ผู้นำกระโดดลงสู่สงครามได้ตามใจสบายแฮ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ร่มเงาของ Democratic Peace Theory เชื่อกันว่า หากประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตยโอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างกันจะน้อยลง ดังนั้น ถ้าเชื่อในแบบนี้ ก็อาจตอบคำถามแรกได้ว่า ประเทศประชาธิปไตยมีกลไกในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่ในระดับหนึ่ง ด้วยคาแรกเตอร์และข้อจำกัดของตัวระบอบเอง ทั้งการมีกลไกและกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการที่ผู้นำจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งคะแนนเสียงของตน ล้วนเป็นกรงทองที่ตีกรอบผู้นำให้ไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆด้วยเช่นกัน ในประเทศที่ระดับความเป็นประชาธิปไตยสูง เสียงของประชาชนมีความสำคัญในสนามเลือกตั้ง ภาคส่วนต่างๆและประชาชนมีส่วนร่วมในระดับสูง เช่นนี้ก็อาจทำให้ประชาชนสามารถลงโทษผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ด้วยระบบ สถานการณ์ก็อาจเป็นไปตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อนหน้า แต่ในบางประเทศที่ระดับความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างต่ำ ผลลัพธ์ก็อาจแตกต่างไปได้เช่นกัน  

เมื่อถามต่อว่า แล้วถ้าคู่ขัดแย้งเป็นเผด็จการล่ะ ประเทศเผด็จการจะสามารถรวบรวมทรัพยากรได้รวดเร็วกว่าและนำไปสู่ชัยชนะทุกครั้งหรือไม่?

ประการแรก การเข้าสู่สงครามของประเทศประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องช้าเสมอไป แม้ว่าทฤษฎีจะบอกว่าประเทศประชาธิปไตยจะมีลักษณะที่ค่อนข้างอ่อนโยนกว่าและมีขั้นตอนมากกว่าในการเข้าสู่สงคราม แต่อย่าลืมว่าผู้นำของประเทศประชาธิปไตยถูกผูกไว้ด้วยความต้องการของประชาชน และระบบตรวจสอบต่างๆนานาดังที่กล่าวไว้ข้างบน หากเกิดเหตุการณ์ที่ดูจะเป็นภัยต่อประเทศ แล้วผู้นำมัวแต่อ่อนโยนหรือมัวแต่ชักช้า ก็จะโดนทัวร์ลงแบบฉ่ำๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น หากภาพภัยคุกคามชัดเจน ประเทศประชาธิปไตยก็พร้อมจะกระโดดลงสู่สงครามเช่นกัน ต่อให้นอกประเทศจะมองผู้นำคนนั้นว่ากระหายสงคราม แต่ถ้าได้เป็น “ฮีโร่” ของคนในชาติ มันก็คุ้มใช่ไหมล่ะครับ?

ส่วนประการที่ว่า ใครจะชนะนั้น น่าจะวิเคราะห์กันด้วยระบอบการปกครองลำบาก เพราะสุดท้ายการจะชนะสงครามขึ้นอยู่กับพลังอำนาจของชาติด้านต่างๆ ทั้งทรัพยากร คน เงิน ยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ไปจนถึงระดับยุทธวิธี ซึ่งประเทศประชาธิปไตยต่างก็มีกลไกภายในประเทศในการรวบรวมทรัพยากรเช่นกัน ข้อนี้จึงเห็นว่า ตอบได้ยาก เพราะต้องดูเป็นกรณีๆไป

สุดท้าย ในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า การที่สองประเทศจะขัดแย้งกัน หรือจะยุติความขัดแย้งกัน เรื่องของระบอบการปกครองเป็นเพียงเรื่องรอง  ในความเป็นจริง สิ่งที่เป็นเรื่องหลักกลับเป็น “ความเป็นพวกพ้อง” และ “ผลประโยชน์” ที่สองประเทศมีร่วมกัน การที่ประเทศประชาธิปไตยไม่รบกันเอง หรือขัดแย้งแต่ไม่ลุกลามเป็นสงคราม ส่วนตัวผมมองว่านอกจากปัจจัยภายในด้านกลไกของระบบแล้ว มันคือความเป็นพวกเดียวกัน ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปกป้องกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอื่นๆ หากทะเลาะกันก็จะลำบากด้วยกันทั้งคู่ แถมจะโดนเพื่อนๆในกลุ่มรุมต่อว่าอีกต่างหาก ถ้าจะตีกับใครสักคนจึงมักจะตีกับคน “นอกกลุ่ม”  ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกของสัญชาตญาณมนุษย์ ที่จะมีความเป็นกลุ่มก้อนและมักต่อต้านสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนตน โดยมักมองสิ่งเหล่านั้นเป็น “ภัย”

เรื่องนี้ต้องว่ากันต่อด้วยเรื่องการทำงานของสมองมนุษย์ ไว้จะขีดๆเขียนๆมาเล่าให้อ่านกันในโอกาสต่อไปนะครับ....เอวัง