เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
ทำไมคนหลายคนจึงคิดไม่เป็น ทำไมใช้แต่ความรู้สึก ประสาทสมผัส สิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินมากับหู ไม่ใช้สมอง ความคิด เหตุผล ไม่แยกภาพลวงตามายาคติกับความเป็นจริง ระหว่างตำนานปรัมปรากับประวัติศาสตร์ คงต้องกลับไปถามเพลโต ผู้ก่อตั้งและเจ้าสำนัก “อะคาเดเมีย” มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก
ทำไมนักปรัชญาอย่างไวท์เฮดจึงบอกว่า แก่นของปรัชญาตะวันตกนั้น เพลโตได้พูดไว้หมดแล้ว ปรัชญาต่างๆ หลังจากนั้นมาถึงปัจจุบันล้วนเป็นเพียง “เชิงอรรถ” ปรัชญาของเพลโตเท่านั้น
หนังสือที่ถือว่าเป็น “มหากาพย์” ของปรัชญาและรัฐศาสตร์ของโลกวันนี้คงต้องยกให้ “อุตมรัฐ” (Republic) ของเพลโต ที่ประกอบด้วยหนังสือเล่มเล็ก 10 เล่ม บทสนทนาระหว่างโสคราติส อาจารย์ของเพลโต กับบุคคลต่างๆ ในกรุงเอเธนส์เมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน เรื่อง “ถ้ำ” อยู่ในเล่มที่ 7
เรื่องย่อมีว่า คนจำนวนมากถูกล่ามโซ่อยู่ในถ้ำ มองไปข้างหน้าที่ผนังถ้ำเห็นแต่เงาของสิ่งที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งอยู่หลังกองไฟ เหล่านักโทษจึงเห็นแต่เงา และคิดว่าเป็น “ของจริง” บางคน (นักปรัชญา) สามารถปลดปล่อยตัวเอง มองไปข้างหลังเห็นสิ่งของและกองไฟ จึงแยกได้ว่า อะไรของจริง อะไรเป็นเงา
ตอนแรกที่เห็นกองไฟ และออกไปนอกถ้ำเห็นดวงอาทิตย์ คนที่ปลดปล่อยแล้ว ตอนแรกๆ จะรู้สึกเหมือนคนตาบอด สู้แสงไฟแสงอาทิตย์ไม่ได้ แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวและมองเห็น “ความเป็นจริง” ได้ในที่สุด
เมื่อเขากลับเข้าไปในถ้ำ บอกใครต่อใครว่าได้พบเห็นอะไร บรรดานักโทษไม่เชื่อ เพราะนักปรัชญาที่กลับเข้าไปในถ้ำมองไม่ค่อยเห็นเหมือนนักโทษที่เคยชินกับความมืด นักโทษจึงกล่าวหานักปรัชญาว่าหลอกลวง
เพลโตบันทึกบทสนทนาตอนนี้ระหว่างโสคราติสกับเกลาโก เพื่อเล่าว่า โสคราสติสถูกตัดสินประหารชีวิตจากคนที่อยู่ในความมืดมนจนเคยชิน รับไม่ได้กับคนที่มองเห็นแสงสว่างและความจริง แล้วมาบอกตน
สาระสำคัญของแนวคิดของเพลโต คือ สิ่งที่เป็นจริงนั้นคือ “ความคิด” “มโนภาพ” (ideas) ที่เป็น “แม่แบบ” (forms) ของสิ่งที่เราเห็น ที่เป็นเหมือน “เงา” เท่านั้น
สิ่งที่เป็น “แม่แบบ” จึงเป็น “นามธรรม” ของสิ่งต่างๆ ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์ ขณะที่สิ่งที่เราเห็น ได้ยิน สัมผัสนั้นเป็นเงาที่ไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลาย
ความคิด หรือ แม่แบบ เราเข้าใจได้ด้วย “ปัญญา” ที่รับรู้-เข้าใจสิ่งที่เป็น “concepts” (มโนทัศน์) ต่างๆ อย่าง “ความจริง ความดี ความงาม” รากฐานของปรัชญา จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์
นี่คือความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ คือ มนุษย์ได้พัฒนาการคิด คิดเป็นนามธรรมได้ ความคิดทำให้มีจินตนาการ มีความสร้างสรรค์ ทำให้ปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เอาหนังสัตว์มาห่อหุ้มกันหนาว จนพัฒนามาเป็นเสื้อผ้าด้วยวัสดุอื่น นำไฟมาทำอาหาร (จากที่เห็นไฟไหม้ป่าและเผาสัตว์ตาย) ทำให้ย่อยง่าย พัฒนาระบบประสาท สมอง ความคิดอ่านค่อยๆ เกิด ปลูกข้าว พัฒนาที่อยู่อาศัย และกลายมาเป็นอารยธรรมไม่กี่พันปีมานี่เอง
อย่างไรก็ดี การเผชิญกับความยิ่งใหญ่และความลี้ลับของธรรมชาติเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ทำให้คนเกรงกลัวและจินตนาการว่า มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลัง คนจึงสร้างตำนาน เทพปรกรณัม เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ความเป็นมา เป็นอยู่ เป็นไปของสรรพสิ่ง
วันหนึ่ง ชาวกรีกจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีทวยเทพ แล้วสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เป็นอยู่ เป็นไปได้อย่างไร ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างจึงสัมพันธ์กัน อะไรเป็นตัวเชื่อม คนแรกเห็นทะเลมีพืชสัตว์ สิ่งมีชีวิตมากมาย จึงบอกว่า น่าจะเป็นน้ำ ต่อมามีคนบอกว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปจนถึง “อะตอม” และ มาถึงเพลโตที่บอกว่า “ความคิด” คือ สิ่งที่เป็นพลังยิ่งใหญ่เบื้องหลังสรรพสิ่ง ที่ทำให้ทุกอย่างสัมพันธ์กัน เป็นอยู่ และเป็นไป
พัฒนาการ “วิชาการ” ของตะวันตกจึงเริ่มต้นจากการแยก “ความคิด” จาก “ความเชื่อ” ความรู้ที่ใช้เหตุผลจากสิ่งที่รู้สึกด้วยประสาทสัมผัส เริ่มจากอริสโตเติล ศิษย์เอกของเพลโต มาจนถึงปัจจุบัน
พัฒนาการของวิชาการต่างๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกตะวันตกมาจากการคิดเป็น การใช้เหตุผล การแยกวิทยาศาสตร์ออกจากศาสนา แยกประวัติศาสตร์จากตำนานเทพปกรณัม
ขณะที่ทางตะวันออกไม่ได้แยกอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัด ข้อดี คือ ทำให้เรามองสรรพสิ่งด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มองอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวมได้ดีกว่า พยายามสร้างความสมดุล
ข้อจำกัด คือ ขาดพัฒนาการด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เราต้องไปเรียนรู้มาจากตะวันตก ทั้งวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ที่เรามักจะอ้างว่า นำมาประยุกต์ให้เป็นไทยๆ คล้ายอาหารฟิวชั่น อย่างข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) เป็นต้น
นักศึกษาใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” ดั้งเดิมนั้น ต้องเรียน 40 คำหลักที่เป็น “คอนเซปต์” จาก “ร้อยคำที่ควรรู้” หนังสือเล่มเล็กๆ ที่เลือกคำสำคัญที่เป็น “นามธรรม” ที่เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้คิดเป็น ไปจนถึงพัฒนาเป็นทฤษฎี เป็นสูตร เป็นสมการ ที่ต้องถอดรหัส ซึ่งล้วนเป็นกระบวนการทางความคิด ทางปัญญา
การส่งเสริมการพัฒนายั่งยืนด้วยกรอบคิดหรือสูตร “รอด พอเพียง ยั่งยืน” นำไปสู่การขยายความว่าในทางปฏิบัติคืออะไร แนวคิดแบบองค์รวม ที่ใช้คำว่า องคาพยพ อินทรีย์ นิเวศ และอื่นๆ แปลว่าอะไร
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็มักเข้าใจแต่เพียงรูปธรรม ว่าเป็นการปลูกผัก ทั้งๆ ที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ไม่เข้าใจว่า “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” คือ การส่งเสริม “คุณธรรม ความรู้ และระบบ”
พอประมาณเป็น “ทางสายกลาง” มัชฌิมาปฏิปทา มีเหตุผล คือ ใช้ความรู้ ใช้วิชาการ ไม่ใช้ความรู้สึก ทำอะไรตามๆ กันไป และมีภูมิคุ้มกัน คือ มีระบบที่ดี เหมือนคนมีระบบสุขภาพดีกีภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ สังคมมีระบบดี ทำให้ทำถูกได้ง่าย ทำผิดได้ยาก ผู้คนอยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข เป็น “อุตมรัฐ”
อย่างไรก็ดี คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่า “นักปรัชญาอธิบายโลก ที่สำคัญ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนโลก” ไม่ใช่คิดเป็นอย่างเดียว แต่ทำเป็นอย่างสร้างสรรค์ด้วย