ฉากการเมือง ที่เห็นอยู่เบื้องหน้า อาจยังไม่ใช่ คำตอบสุดท้าย ดังนั้น เมื่อมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง อันเป็น ภาคต่อ จาก จุดเปราะบาง เมื่อ 40 สว. ยื่นถอดถอนทั้ง เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่ง และ พิชิต ชื่นบาน พ้นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 


 เรื่องราวอาจไม่ได้จบลงเป็นการ เฉพาะตัว หากผลของคำวินิจฉัยให้ พิชิต พ้นรัฐมนตรี  เท่านั้น แต่สาระหลักยังอยู่ที่การ เปิดเกม เปลี่ยนตัวนายกฯตามมาด้วยหรือไม่ เพราะ เศรษฐา ถูกร้องให้ถอดถอนด้วยเช่นกัน ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่เสนอชื่อพิชิต ทั้งที่เคยทักท้วงกรณีมีคุณสมบัติส่อขัดรัฐธรรมนูญ 


 กระแสและความเคลื่อนไหวที่กำลังระอุ  และถูกพูดถึงไม่น้อยนั้น มีทั้งการคาดการณ์ว่า เมื่อเศรษฐา ต้องลุกจากเก้าอี้นายกฯจริง  ใคร คือผู้ที่มีลุ้น มีสิทธิได้รับการเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่แทน  


 โควตาจะยังเป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลอยู่หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปยังโควตาพรรคร่วมรัฐบาล ที่รอลุ้น แม้จะอยู่ร่วมในครม.ด้วยกัน
 อย่างไรก็ดี กระแสการเปลี่ยนตัวนายกฯ  กระหึ่มพอๆกับการปลุกประเด็นใหญ่ว่าด้วยการยึดอำนาจ รัฐประหารนั้น ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น  แน่นอนการปลุกเร้าเรื่องนี้ขึ้นมา น่าจะเป็น ความเพลี่ยงพล้ำ ของพรรคเพื่อไทย ที่อาจลุกลามมาจากความต้องการ ปราม ไปยัง ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ ซึ่งมีบทบาทต่อพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล เป็นนัยยะสำคัญด้วยหรือไม่ 


 ทว่าการทำรัฐประหารในยุคการเมืองใหม่ อาจเป็นความต้องการและได้แรงหนุนจาก ฝ่ายตรงข้าม กับขั้วทักษิณ  แต่ย่อมไม่เป็นผลดีนักต่อ ขั้วอำนาจเก่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ แรงต้าน ทั้งในและนอกประเทศ  


 นอกจากนี้อย่าลืมว่าอาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ เข้าทาง ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตย  ให้หยิบฉวยเป็นวาระขึ้นมาโจมตี และปลุกกระแสจาก นอกประเทศ ดึงต่างชาติเข้ามาผสมโรง  


 ดังนั้นการปลุกกระแสรัฐประหารที่ล้มเกมการเมือง กระดานเก่า จึงอาจไม่ใช่ คำตอบ สำหรับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เหมือนที่ผ่านมา ฉะนั้นการออกมาเคลื่อนไหวโดย 40สว. ผ่านกลไก  องค์กรอิสระ และตามรัฐธรรมนูญ จึงดูจะเป็นช่องทางที่มีความชอบธรรม และไม่ทำให้ฝ่ายขั้วอำนาจเก่า เสียหาย !