รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ตามการรายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ระบุว่า จำนวนประชากรอินเดียที่มีอายุ
60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก 149 ล้านรายในปี 2565 เป็น 347 ล้านรายในปี 2593 หรือเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวทำให้อินเดียต้องตื่นตัวรับมือสังคมสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ออกมาย้ำเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 อีกว่า “ประเทศอินเดียจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยขยายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี สามารถทำงานได้แม้วัยเกษียณ”

“SIXTY Plus India” หรือ 60Plus India เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่สนับสนุนและดูแลคนสูงวัยอินเดียที่อยู่ในรูป Online Aggregator Platform ที่คอยจัดการการดูแลผู้สูงอายุแบบส่วนบุคคล ทั้งด้านอารมณ์ การดูแลสุขภาพ และข้อมูลสำหรับผู้สูงอายุ และหนึ่งในหน่วยงานที่
น่าศึกษาเรียนรู้คือ ‘ซิลเวอร์คลับ’ (Silver Club) ซึ่ง ‘ซิลเวอร์คลับ’ นี้ มีวัตถุประสงค์อะไร? และทำอะไรบ้าง? มาส่องดูกันครับ...

 ‘ซิลเวอร์คลับ’ (Silver Club) มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงวัย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมกันที่อุทิศให้กับสวัสดิการชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ และเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น การเข้าสังคม และความเป็นอิสระสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมและโปรแกรมต่าง ๆ ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่ดี เอาชนะความเหงา และสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืน สำหรับกิจกรรมทั้งหมดที่ซิลเวอร์คลับจัดบริการประกอบด้วย

อิสรภาพทางการเงิน (Financial Independence) เน้นให้ผู้สูงวัยใช้ความสามารถของตนเองให้เกิดประโยชน์และได้รับค่าตอบแทน โดยการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดปัจจุบัน ช่วยอัปเดตเรซูเม่เพื่อสะท้อนถึงทักษะร่วมสมัย และเชื่อมโยงผู้สูงวัยกับการทำงานพาร์ตไทม์และการทำงานเต็มเวลา

กิจกรรมทางสังคม (Social Gatherings) มุ่งการเข้าร่วมกลุ่มที่มีชีวิตชีวาและมีส่วนร่วมในการพบปะทางสังคมที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ร่วมดื่มกาแฟยามเช้าที่สดชื่นรื่นรมย์ เล่นเกมยามค่ำคืน และกิจกรรมที่มีธีมสนุก ๆ เพื่อสร้างความทรงจำอันน่าจดจำไปพร้อม ๆ กับขยายวงสังคมออกไป

กิจกรรมทางกาย (Physical Activities) เน้นให้ผู้สูงวัยคงความกระฉับกระเฉงและรักษาสุขภาพร่างกายด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ออกกำลังกายเบา ๆ ชั้นเรียนโยคะที่ทำให้มีชีวิตชีวา กลุ่มเดินชมทิวทัศน์ และการเต้นรำเป็นจังหวะ กิจกรรมทางกายจะเน้นความปลอดภัยและความสนุกสนานควบคู่กัน

การสัมมนาทางการศึกษา (Educational Seminars) ขยายขอบเขตความรู้และการรับรู้ข่าวสารผ่านการสัมมนาทางการศึกษา ค้นพบหัวข้อที่เจาะลึกที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย เช่น สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การวางแผนทางการเงิน เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ งานอดิเรก และอื่น ๆ เพื่อเสริมพลังให้ผู้สูงวัยในด้านต่าง ๆ ของชีวิต

ศิลปะและหัตถกรรม (Arts and Crafts Workshops) ปลุกความคิดสร้างสรรค์ของผู้สูงวัยด้วยการจัดเวิร์กช็อปศิลปะและงานฝีมือที่สร้างแรงบันดาลใจ ปลดปล่อยศักยภาพด้วยภาพวาด เครื่องปั้นดินเผา การถักนิตติ้ง และงานฝีมืออื่น ๆ ที่จะบ่มเพาะและค้นหาความสามารถของคนวัยเก๋าในมุมใหม่

ทริปทัวร์ท่องที่ยว (Day Trips and Tours) เริ่มต้นการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น สถานที่ทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ วัด ทัวร์เดินในท้องถิ่น และสวนสาธารณะอันเงียบสงบ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การผจญภัยครั้งใหม่และสร้างความทรงจำอันล้ำค่าร่วมกับ
เพื่อน ๆ สำหรับผู้สูงวัยที่ชื่นชอบการเดินทางระยะไกลสามารถเข้าร่วมทัวร์ที่จัดไว้ไปยังจุดหมายปลายทางใกล้เคียง

อาสาสมัคร (Volunteer Opportunities) ผู้สูงวัยสามารถตอบแทนชุมชนและสร้างผลกระทบที่มีความหมายผ่านโครงการอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อการกุศล และการช่วยเหลือกิจกรรมในท้องถิ่น ‘เวลาและทักษะของผู้สูงวัยจะทิ้งร่องรอยเชิงบวกให้กับชีวิตของผู้อื่น’

การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี (Technology Training) ปลดล็อกผู้สูงวัยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นใจผ่านการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีเฉพาะทาง เรียนรู้วิธีใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อช่วยให้เชื่อมต่อกับเพื่อน ญาติ คนที่รักและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

กลุ่มสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support Groups) ร่วมค้นหา ปลอบประโลมใจ และสนับสนุนเชิงอารมณ์ โดยเชื่อมต่อกับเพื่อน ๆ ที่มีประสบการณ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลและความท้าทายต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ การเงิน การใช้ชีวิต เป็นต้น ด้วยการแบ่งปันเรื่องราว ให้คำแนะนำ และรับการสนับสนุนทางอารมณ์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย

กิจกรรมข้ามเจน (Intergenerational Activities) เน้นเติมช่องว่างระหว่างเจนหรือวัย ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างรุ่นผ่านกิจกรรมที่วางแผนไว้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกันที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการให้คำปรึกษาร่วมกันระหว่างผู้สูงวัยกับคนต่างวัย

เมื่อปรากฏการณ์ผู้สูงวัยท่วมท้นทั่วโลก การใส่ใจดูแลผู้สูงอายุกลายเป็นความจำเป็นลำดับต้น ๆ ของทุกประเทศ แต่เพื่อมิให้ผู้สูงอายุเป็นภาระแต่จะเป็น “พลังหนุน” ให้กับคนทุกกลุ่ม ก็ต้องทำให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตด้วยตนเองอย่างมีความสุขและยังทำงานได้ตามศักยภาพก็จะเป็นการปลดล็อก “คนวัยเก๋า” และคนทุกเจนทุกกลุ่มของประเทศให้อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน

เข้ากระแสหลักไม่เลือกปฏิบัติครับ !!