เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

มนุษย์เนอันเดอร์ธาลส์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 40,000 ปีก่อน ทั้งที่พัฒนากว่า 200,000 ปีคู่ขนานมากับ homo sapiens บรรพบุรุษมนุษย์ทุกวันนี้ ที่กำลังประดิษฐ์ “มนุษย์เอไอ” ที่อาจจะทำลายสายพันธุ์ sapiens ก็เป็นได้

ประชากรโลกวันนี้มีความผันผวน มีประเทศที่ประชากรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแอฟริกา ประเทศมุสลิม และประเทศกำลังพัฒนา มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 โลกจะมีประชากร 8.5 พันล้านคน และในปี 2050 จะมี 9.7 พันล้านคน ไม่กี่ปีจากนั้นคงถึง 10,000 ล้านคน

แต่ที่น่าตกใจ คือ หลายประเทศประชากรลดลง ส่วนใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก อย่าง 10 อันดับแรก ได้แก่ บัลเกเรียจะลดลงร้อยละ 22.50 รองลงมาก็ยูเครน เซอร์เบีย อัลเบเนีย บอสเนีย มอลโดวา โครเอเชีย เบลารุส รูเมเนีย อันดับ 10 คือ ญี่ปุ่น ที่จะลดลงร้อยละ 16.30

ประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อนมีประชากร 28 ล้านคน ปีนี้มี 70 ล้าน อีก 60 ปีข้างหน้าคาดว่าอาจเหลือ 33 ล้านคน กว่าสองในสามอายุมากกว่า 60 ปี

เมื่อ 60-70 ปีก่อน รัฐบาลสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามส่งเสริมให้คนมีลูกมาก ให้เงินอุดหนุน (อ่านเรื่อง เขียดขาคำ ของลาว คำหอม จะซาบซึ้งเรื่องนี้ดี) เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นว่า “ลูกมากจะยากจน” แต่ก็ยังส่งเสริมให้ “คนขยันย่อมหักร้างถางป่าเพื่อทำมาหากิน” จนป่าหมด

หลายประเทศพัฒนาประชากรไม่ลด กลับเพิ่มขึ้นเพราะมีผู้อพยพหรือลี้ภัยเข้าไปมาก อย่างสหรัฐอเมริกา  เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ปากว่าตาขยิบ ทำเป็นกีดกันผู้อพยพ แต่จริงๆ ต้องการแรงงานฝีมือ จึงต้องการคัดคนที่มีทักษะเป็นอันดับแรก และแรงงานเป็นอันดับรอง

อย่างเยอรมนี มีประชากรอพยพถึงร้อยละ 23 ของประชากร เท่ากับ 19 ล้านคน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีประชากรที่เป็นผู้อพยพ 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากร  ประชากรอพยพในประเทศเหล่านี้ไม่ได้ “คุมกำเนิด” เคร่งครัดเหมือน “เจ้าถิ่น” ประชากรเด็กส่วนใหญ่จึงเป็นลูกผู้อพยพ หรือ “ลูกครึ่ง”

ประเทศที่ประชากรลดลงส่วนใหญ่จึงงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้คนมีบุตร อย่งเกาหลีใต้จ่ายลูกที่เกิดทุกคน 100 ล้านวอน (2.7 ล้านบาท) กระนั้นคนเกาหลีก็ไม่ได้แข่งกันมีลูกเพื่อจะได้ 100 ล้านวอน

พรรคการเมืองเกาหลีหาเสียงเสนอมาตรการจูงใจให้คนมีลูกว่าจะให้บ้าน ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ละเมืองต่างก็เสนอแรงจูงใจให้คนมีลูก โดยเฉพาะกรุงโซลที่มีอัตราการเติบโตประชากรแค่ร้อยละ 0.55

เมืองจีนก็มีปัญหาสืบเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวที่ยกเลิกไปเมื่อปี 2015 ให้มีได้ 2 ต่อมาปี 2021 ให้ได้ถึง 3 คน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะชีวิตสังคมสมัยใหม่ทำให้ “มีลูกมากจะยากจน”  แม้ว่าหลายมณฑลและหลายบริษัทมีนโยบายให้เงินอุดหนุนเพื่อการดูแลเด็ก รวมทั้งวิธีการทำให้มีบุตรในรูปแบบต่างๆ (เพราะมีบุตรยาก)

เมืองหางโจวมีมาตรการสนับสนุนคนมีบุตรคนที่ 3 เป็นเงินประมาณ 150,000 บาท เมื่อปี 2023 ปักกิ่งประกาศว่าจะอุดหนุนเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 16 ประเภท เช่น เด็กหลอดแก้ว การปลูกถ่ายตัวอ่อน การแช่แข็งและการเก็บน้ำอสุจิ และอื่นๆ ให้รวมอยู่ในประกันสังคมพื้นฐาน

ยังมีตัวอย่างมาตรการส่งเสริมการมีบุตรอีกมากมายอย่างบริษัท China’s Trip.com มีมาตรการให้เงินพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมาอย่างน้อย 3 ปี จะได้รับเงินปีละ 75,000 บาทต่อเนื่อง 5 ปีสำหรับเด็กที่เกิด

ญี่ปุ่นดูจะเป็นห่วงเรื่องนี้มากกว่าใคร ทุกวันนี้เสนอเงินประมาณ 170,000 บาทให้พ่อแม่ใหม่ที่มีลูกแต่ละคน พร้อมเงินอุดหนุนเดือนละ 5,000 บาทจนกว่าลูกจะอายุ 3 ขวบ จากอายุ 4-15 ปีจะได้เดือนละ 3,400 บาท

ไต้หวันกับสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลก จึงมีมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร ไม่ว่าเพื่อการตั้งครรภ์ การเลี้ยงดู การไปโรงเรียนอนุบาล การดูแลเด็ก และให้หยุดงานได้ 6 เดือนโดยได้รับเงินเดือน

สิงคโปร์ให้เงินพ่อแม่สำหรับบุตรคนแรกและคนที่สองคนละ 400,000 บาทและเพิ่มเป็น 500,000 บาทสำหรับลูกคนที่ 3 ยังเปิดบัญชีเงินฝากให้เด็กเกิดใหม่อีกคนละ 200,000 บาท

มาตรการต่างๆ ในประเทศเอเชียเหล่านี้มีการประเมินว่าไม่ได้ผล เพราะวัฒนธรรม “เสพติดงาน” ค่าครองชีวิตที่สูง ความยุ่งยากในการดูแลเด็ก และความไม่เท่าเทียมและการกีดกันทางเพศเป็นสาเหตุหลัก

ประเทศไทยก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน เด็กที่เกิดน้อยลงส่งผลกระทบต่อสังคม นักเรียนน้อยลง นักศึกษาน้อยลง โรงเรียนในชนบทมากมายและมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งต้องปิดตัว แรงงานที่ลดลง หวังพึ่งแรงงานต่างชาติก็ไม่ได้ตามที่ต้องการเสมอไป โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ

บางประเทศอย่างเยอรมนีประกาศว่าต้องการแรงงานฝีมือต่างชาติ และยินดีให้สัญชาติเยอรมันได้ง่าย ความจริง ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็อ้าแขนต้อนรับถ้ามีความรู้ความสามารถกันทั้งนั้น

มาตรการบ้านเราที่ให้เงินอุดหนุน 15,000 บาทเมื่อคลอด ลาได้ 98 วัน ถือว่าน้อยมาก การสำรวจความเห็นของคนในวัยแรงงานร้อยละ 70 บอกว่า ไม่พร้อมมีบุตรใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี ผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี

เงื่อนไขชีวิต เงื่อนไขงาน ค่าครองชีพของบ้านเราไม่เอื้อให้คนวัยแรงงานมีลูก แม้ได้เงิน 15,000 บาท คลอดแล้วจะให้ใครเลี้ยง ต้องจ้างคนเลี้ยง ส่งไปให้พ่อแม่ของตนในต่างจังหวัดเลี้ยง ตัวเองก็ยังเลี้ยงตัวเองแทบไม่ได้ หนี้สินก็ยังมี แล้วจะมีลูกได้อย่างไร ไม่ใช่สังคมเกษตรที่ต้องมีลูกมาช่วยงานในนา สังคมวันนี้ไม่มีใครหวังพึ่งพาลูกได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

นอกนั้น วันนี้คนหนุ่มสาวรักกันก็อยู่ด้วยกันโดยไม่มีการแต่งงาน และไม่ต้องการมีลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสังคมเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง เรื่องที่เงิน 10,000 สดหรือดิจิทัลก็ไม่พอเพื่อแก้ปัญหา

             

.