ทวี สุรฤทธิกุล
สิ่งใหม่ “ไล่และแทน” สิ่งเก่าคือวิถีธรรมชาติฉันใด คนรุ่นใหม่ก็เข้ามา “ไล่และแทน” คนรุ่นเก่าฉันนั้น
ใน พ.ศ. 2522 ที่ผู้เขียนมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในกรุงเทพฯ พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช กวาด สส.ไปเกือบหมด เหลือไว้เพียง 3 ที่ ให้นายถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอีก 2 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับนายเกษม ศิริสัมพันธ์ หัวหน้าและลูกพรรคกิจสังคม
พ.ศ. 2535 และ 2538 พรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง กวาดที่นั่งในกรุงเทพฯเกือบหมดอีกเช่นกัน กระทั่งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และมีการเลือกตั้ง สส.ในปี 2544 พรรคไทยรักไทยก็ได้เป็นพรรคใหญ่ขึ้นมา ต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งในทุกครั้ง แม้จะถูกยุบพรรคและใช้ชื่อพรรคใหม่ จนถึง พ.ศ. 2562 และ 2566 นี่เองที่ต้องมาเพลี่ยงพล้ำให้แก่พรรคที่ “ใหม่กว่า” อย่างพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล (ซึ่งก็เป็นพรรคเดียวกันเพียงแต่เปลี่ยนร่างมาเพราะโดนยุบพรรค)
ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่เรียกว่า “น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า”
ภาวะน้ำใหม่ไล่น้ำเก่าย่อมไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะสามารถประสบความสำเร็จมาทุกยุคทุกสมัย แต่ถ้าเมื่อใดที่น้ำใหม่นั้นเกิดหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ก็จะเป็นเปลี่ยนสภาพกลายเป็นน้ำเก่าขึ้นในทันที
“ความใหม่” เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ชื่อพรรค หัวหน้าพรรค ไปจึงนโยบายและการหาเสียงของพรรค
แต่ว่าชื่อพรรคมักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนกัน (ยกเว้นจะถูกยุบพรรคหรือปรับชื่อให้ดีขึ้น) เช่นเดียวกันกับหัวหน้าพรรค คือถ้ายังมีบารมีหรือ “ขายได้” ก็ยังคงแขวนชื่อคน ๆ นั้นเป็นหัวหน้าเอาไว้ ส่วนที่เปลี่ยนไปเสมอทุกครั้งในการเลือกตั้งก็คือ นโยบายพรรคและการหาเสียงของพรรค ซึ่งสองอันหลังนี้แหละที่มักจะใช้ในการสร้างความใหม่ได้โดยตลอด นั่นก็คือ “การสร้างกระแสใหม่ ๆ” เพื่อเอาชนะเลือกตั้งนั่นเอง
ในยุคที่ผู้เขียนเติบโตมา พรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นพรรคที่สร้างกระแสได้ดีที่สุด นั่นก็คือกระแส “ศีลธรรมนำการเมือง” ที่ทำให้พลตรีจำลองเป็นที่โดดเด่น ด้วยบุคลิกของ “คนธรรมะธัมโม” ถือศีลแปดอย่างเคร่งครัด ใส่เสื้อม่อฮ่อม รองเท้าแตะ กินอาหารวันละมื้อ และกินเฉพาะถั่วและผัก ทั้งยังอาบน้ำวันละ 5 ขัน จนมีฉายาว่า “มหาห้าขัน” นั่นก็เป็นเพราะคนไทยกำลังเบื่อ “นักการเมืองเลว ๆ” (ที่เป็นภาพฝังมาตั้งแต่การแย่งชิงตำแหน่งกันจนบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายมาตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่งเกิดคอร์รัปชันโกงกินกันด้าน ๆ ในยุคบุฟเฟ่ต์คาร์บิเน็ต พ.ศ. 2534) จนเมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาเซ้งพรรคพลังธรรมในปี 2538 พรรคนี้ก็เข้าสู่ยุคเสื่อม เพราะกลายเป็นว่าพรรคนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคที่มีอยู่ทั้งหลายในยุคเดียวกันนั้น จนมาถึงทุกวันนี้พรรคพลังธรรมก็สิ้นสูญไปแล้วเรียบร้อย จะมีก็แต่เชื้อแถวบางคนที่อ้างชื่อพรรคนี้ในชื่อ “พลังธรรมใหม่” ซึ่งก็ขายไม่ได้และไม่มี ส.ส.ในสภาแล้วในตอนนี้
มาดูกันที่ประเด็นหลักของบทความนี้ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกล ที่ผู้เขียนมองอย่างวิเคราะห์ตามกระแสที่พรรคนี้สร้างขึ้น ที่เรียกว่า “น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า” นี้ ก็อดจะคิดไปไม่ได้ว่าพรรคก้าวไกลน่าจะมีอนาคตไปได้ไม่นาน
ประการแรก ความใหม่ที่พรรคนี้สร้างขึ้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เฟค” คือแกนนำของคนที่สร้างพรรคนี้ ตั้งแต่ที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ใน พ.ศ. 2562 มาจนถึงพรรคก้าวไกลใน พ.ศ.นี้ มีความเข้าใจดีถึงความเบื่อของคนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ก็จริง นั่นก็คือความเบื่อระบอบเก่า และลัทธิธรรมเนียมแบบเก่า ๆ โดยเฉพาะพวกคนหัวเก่าที่กีดกันคนรุ่นใหม่ อันนำมาซึ่ง “การระเบิดออกมา” ของการใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงความรู้สึกที่ต่อต้านสิ่งเก่า ๆ เหล่านั้น (เหมือนชัยชนะของพรรคไทยรักไทยใน พ.ศ. 2544 ถึง 2549 ที่คนรากหญ้าเทคะแนนให้พรรคนี้ เพื่อแสดงพรรคพลังของคนที่ถูกกดหัวด้อยค่ามาโดยตลอดเหล่านั้น)
แต่ขณะนี้ได้ทราบมาว่าพรรคก้าวไกลอาจจะมีนโยบายที่ “เปี๊ยนไป” คือถ้าหากถูกยุบพรรคไป (ซึ่งคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำตัดสินในปลายเดือนพฤษภาคมนี้) ซึ่งก็มีการตั้งพรรคใหม่รอไว้รับรอง ส.ส.ของพรรคนี้ไว้แล้ว พรรคใหม่นี้จะมีการรอมชอมกับกลุ่มอำนาจเก่าในบางเรื่อง โดยเฉพาะการไม่ไปแตะต้องเรื่องมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงมาโดยตลอด รวมถึงที่อาจจะมีการประนีประนอมกับพรรคในฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อหวังผลในการได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อันจะส่งผลให้บรรดาแฟนคลับของพรรคนี้จะต้องรู้สึกผิดหวังและอาจจะไม่เลือกพรรคนี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ประการต่อมา พรรคก้าวไกลอยู่ในภาวะไร้ผู้นำที่โดดเด่น แม้ว่าจะสามารถหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ แต่ก็ไม่อาจเทียบคนอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ (ว่ากันว่าอาจจะเป็นนายพริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม) เว้นแต่ว่าจะชูนโยบายที่จะต่อต้านระบอบเก่าให้เข้มแข็งและหนักแน่นยิ่งขึ้น กระนั้นด้วยกระแสที่อยากประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์ ก็อาจจะทำให้พรรคนี้ “ไปไม่เป็น” ก็ได้
อีกประการหนึ่ง ยังไม่มองไม่เห็นว่าพรรคก้าวไกลในร่างใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะมีนโยบายในการหาเสียงเพื่อเอาชนะเลือกตั้งอะไรบ้าง แน่นอนว่าถ้าจะให้เป็นไปตามทฤษฎีที่กำลังนำเสนอกันอยู่นี้ ก็จะต้องเป็นแนวนโยบายใหม่ ๆ และ “กระแทกใจ” คนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นกำลังหลักของการปกครองประเทศในยุคต่อไป ซึ่งก็อาจจะต้องรอให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่ไม่แน่ว่ารัฐบาลนี้อาจจะอยู่ไม่ครบเทอม โดยบางทีอาจจะมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แน่นอนว่าน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ “ดุเดือด” น่าดูชม
ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตามองก็คือ พรรคก้าวไกลจะสามารถ “สร้างความใหม่” อะไรขึ้นมาบ้าง ถ้าโชคดีไม่ถูกยุบพรรคในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ต้อง “รีเฟรช” หรือปรับปรุงจรุงแต่งให้พรรคนี้ดูสดใสและหอมหวานยิ่งขึ้น ตั้งแต่ผู้นำพรรคไปจนถึงนโยบายและกิจกรรมของพรรค ทั้งนี้เพื่อสร้าง “กระแสใหม่ ๆ” ให้เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งในทางการเมืองก็ไม่ใช่แค่จะเปลี่ยนใหม่ให้ดูสวยดูดี แต่ต้อง “เปรียงปร้างและเผ็ดร้อน” ยิ่งขึ้นด้วย
ท้ายที่สุดจะต้องมีวิธีสร้างความใหม่ต่าง ๆ ให้มีขึ้นเป็นระยะ ๆ เพราะถ้าลำพองใจ เอาของเก่าหากินไปเรื่อย ๆ แล้ว ความเก่าก็จะมากัดกร่อนและทำลายพรรคได้
คนที่อ่านสามก๊กจะทราบดีว่า จอมยุทธ์อย่างขงเบ้งไม่เคยใช้ยุทธวิธีเก่า ๆ รบครั้งใหม่ก็ต้องใช้ยุทธวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอ