เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล มีคนให้ข้อสังเกตว่า ทำไมไม่มีวันบุรุษสากล หรือเพราะว่าอีก 363 วันเป็นวันผู้ชาย ซึ่งเป็นใหญ่ในสังคม (วันผู้หญิงมี 2 วัน อีกวันเป็นวันแม่)
เมื่อปี 1975 มีการประชุมสตรีโลกที่เม็กซิโกซิตี เห็นข่าวทางทีวีที่ผู้สื่อข่าวถามสตรีผู้แทนจากประเทศไทยว่า “ที่ประเทศของท่านเรื่องการปลดปล่อยสตรีเป็นอย่างไร” (emancipation) จำได้ว่า ผู้แทนไทย คือคุณหญิงอัมพร มีสุข ท่านตอบหน้าตาเรียบเฉยว่า “ที่บ้านเมืองฉัน ผู้หญิงปลดปล่อยแล้ว ยังเหลือแต่ผู้ชาย”
บางคนอาจจะขำ และคิดว่า “เล่นคำ” แต่ท่านพูดจริง แล้วแต่จะมองสภาพที่เป็นจริงของสังคมจากด้านใด ยืนด้านหน้าคนก็มองเห็นภาพหนึ่ง ยืนด้านหลังก็มองเห็นอีกภาพหนึ่ง แต่คนคนเดียวกัน
“เพศที่สอง” (Second Sex) เป็นชื่อหนังสือที่เขียนโดย ซีโมน เดอ โบวัวร์ เมื่อปี 1949 หนังสื่อนี้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ส่งเสริมขบวนการสตรีนิยม ด้วยประโยคว่า “คนไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง แต่กลายเป็นหญิง” เพื่อบอกว่า มีเพศทางชีววิทยาและเพศทางสังคม การแยกชายหญิงเกิดจากสังคม “การกดขี่สตรีถูกสร้างจากสังคม”
เธอหมายความว่า “ความเป็นหญิง” (femininity) ถูกสร้างให้เป็นลักษณะของ “ผู้หญิง” (womanhood) เธอเถียงว่า ผู้หญิงไม่ได้ต่ำต้อยด้อยกว่าผู้ชาย แต่ถูกทำให้ต่ำต้อยด้อยกว่าในสังคมด้วยการสร้าง “ความเป็นหญิง” (femininity) ซึ่งผู้หญิงไม่ได้เกิดมาพร้อมกับสิ่งนี้ แต่สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่แต่งตั้งสร้างขึ้น
เดอ โบวัวร์ นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาสิ่งที่สังคมคาดหวังและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นหญิง” ที่ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทต่ำกว่าผู้ชาย ให้เป็นผู้ดูแล ทำงานบ้าน และให้ความสุขทางเพศ บทบาทเหล่านี้จำกัดความเป็นตัวของตัวเองและศักยภาพของผู้หญิง ทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะต่ำกว่าและต้องพึ่งพาผู้ชาย
ด้วยแนวคิดที่เน้นว่า ความเป็นหญิงถูกสร้างจากสังคม เธอจึงตั้งคำถามกับนิยามเก่าๆ ของเพศชายหญิงที่ก่อให้เกิดการกดขี่ผู้หญิง เธอเรียกร้องให้สตรีปฏิเสธนิยามที่จำกัดบทบาทของสตรี และให้สู้เพื่อการปลดปล่อยและความเท่าเทียม โดยอยู่บนฐานของ “ความเป็นมนุษย์” มากกว่าการเป็น “ชายหญิง”
เธอเริ่มจากการวิเคราะห์รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของการกดขี่สตรีผ่านทางสถาบันต่างๆ ทางสังคม การเมืองและศาสนา วิพากษ์นิยามแบบประเพณีของความเป็นหญิงว่าถูกสร้างโดยผู้ชายเพื่อการควบคุมหญิง สร้างมายาคติ หรือตำนานต่างๆ ที่สะท้อนความคิดความเชื่อชายเหนือกว่าหญิง
เธอวิเคราะห์เรื่องเพศและการมีบุตรว่าได้ถูกใช้ให้เป็นกรอบชีวิตของผู้หญิง จำกัดเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเองของผู้หญิง เธอวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจต่อการกดขี่ผู้หญิง อย่างการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เธอวิจารณ์ประเด็นการยกย่องความเป็นแม่ของผู้หญิงที่กลายเป็นการจำกัดขอบเขตชีวิตของผู้หญิง ให้เป็นผู้ดูแล ทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง
เดอ โบวัวร์ศึกษาประเพณีศาสนาและตำนานต่างๆ อันเป็นที่มาของมายาคติ ความเข้าใจเกี่ยวกับการล่อลวง บาป และเรื่องเพศ ตั้งแต่เรื่องอดัมและอีฟ อันเป็นที่มาของบาปในโลก เป็นความผิดของอีฟที่ยอมแพ้ต่อการล่อลวงของปีศาจ รวมทั้งตำนานกรีกต่างๆ ก็ล้วนเล่าเรื่องทำนองนี้ ประกอบกับสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มองผู้หญิงต่ำกว่าและควบคุมกำกับความสัมพันธ์ทางเพศ ร่างกายของผู้หญิงเป็นเหมือนวัตถุและสินค้า ทำให้ผู้หญิงเป็นสิ่งของสนองความไคร่
การผูกภาพของผู้หญิงกับบาปและปมความผิดเกี่ยวโยงไปถึงการควบคุมร่างกายของผู้หญิงและเรื่องเพศ มีการควบคุมดูแลเข้มงวดเช่นการทดสอบพรหมจรรย์ การสวมเข็มขัดป้องกันความบริสุทธิ์ และกฎทางศีลธรรมที่กำหนดความประพฤติของสตรี ที่มีในประเพณีมานาน และอาจยังหลงเหลืออยู่แม้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ภาพผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ทางเพศในสื่อ การโฆษณา ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ภาพของความเป็นสตรีและความงามในอุดมคติตอกย้ำบทบาทแบบประเพณีของชายหญิงแบบเหมารวม แนวคิดของเดอ โบวัวร์ท้าทายสังคมผู้ชายเป็นใหญ่และภาพการเหมารวมเหล่านี้ ส่งเสริมความเท่าเทียมชายหญิง โดยต้องมุ่งไปที่พลวัตอำนาจที่อยู่เบื้องหลังหรือเป็นฐานให้เรื่องเล่าและมายาคติ ที่หลอมรวมเป็นวิธีคิดที่ทำร้ายผู้หญิงเช่นนี้
ในศตวรรษที่ 19 เริ่มเกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีในการลงคะนนเสียงเลือกตั้ง เริ่มที่สหรัฐอเมริกาที่รัฐสภาเห็นชอบสิทธิสตรีในการลงคะแนน ปลุกให้เกิดขบวนการคล้ายกันในยุโรป และขยายจากเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งไปยังเรื่องอื่นๆ อย่างสิทธิในทรัพย์สิน การเข้าถึงการศึกษา และเรื่องการมีบุตรหรือไม่มี
เรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรีพัฒนาเรื่อยมาจนถึงกลางศตวรรษ 20 ที่นับเป็นคลื่นลูกที่สองของ “สตรีนิยม” ที่เน้นเรื่องสิทธิในการ “ท้อง” หรือ “แท้ง” การไม่แบ่งแยกในที่ทำงาน บทบาทของเพศชายหญิง จนเกิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาที่ห้ามกีดกันงานเพราะเหตุผลทางเพศ การคุมกำเนิดและการทำแท้งในหลายประเทศ
ปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 มีการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศ ค่าจ้างที่เท่าเทียมชายหญิง การมีสตรีเป็นผู้แทนทางการเมืองและผู้นำองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
การรณรงค์สิทธิสตรีโยงไปถึงและร่วมมือกับกลุ่มและประเด็นอื่นๆ อย่างการเหยียดผิว เหยียดคน LGBTQ คนพิการและคนชายขอบ ที่สตรีได้รับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ดี สังคมวันนี้ได้พัฒนาก้าวไปอีกหลายก้าวเรื่องสิทธิสตรี ความเท่าเทียมชายหญิง แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า จะเท่าเทียม “ขนาดไหน” ในทุกเรื่องหรือไม่อย่างไร ซึ่งคงต้องแยกและจัดการให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของชายหญิง แต่ก็ไม่ควรเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันและกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่เท่าเทียม
ตามประเพณี เรื่องเพศเป็น “ตาบู” เรื่องต้องห้าม แตะต้องไม่ได้ การปรับแก้กฎหมายที่ตราขึ้นมาตามกรอบประเพณีที่ผู้ชายเป็นใหญ่เป็นเรื่องที่ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม สังคมต้องการการปลดปล่อยจากการครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ที่ใหญ่กว่านั้น คือ ครอบงำทางสังคม “ทางเพศ” ที่ต้องตีตาบูให้แตก ทั้งเพศที่สอง และ LGBTQ