ทั้ง แรงกดดัน และความรู้สึก น้อยใจ เมื่อถูกปรับออกจากครม. ของ อดีตรัฐมนตรี 3 ราย ในโควตาพรรคเพื่อไทย ในสายตา คนนอก  อาจมองว่า นี่คือปัญหาใหญ่ แต่คงไม่ใช่สำหรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริง 


 เพราะเจ้าของบ้าน เจ้าของพรรค ย่อมประเมินแล้วว่า 8 เดือนที่ พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นรัฐบาลนั้น ยังไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมให้กลับมาได้ ตามที่คาดหวัง  
 มิหนำซ้ำ ศึกใหญ่ อย่างการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น คือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศ ในต้นปีหน้า 2568 คือภารกิจสำคัญที่ไม่อาจรีรอ หรือคาดหวังแต่เพียง ผลงาน จากรัฐบาล เพราะคงไม่ทันการณ์ เสียงปี่เสียงกลองจากศึกสนามเลือกตั้งอบจ. เริ่มดังอึกทึกเข้ามาทุกขณะ แทบทุกพรรคการเมืองเอง ต่างหมายมั่นปั้นมือกับสนามนี้ 

 ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั่วประเทศ ที่ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี และหมดวาระลงในช่วงปลายปี วันที่ 20 ธ.ค. 2567 นี้จากนั้นจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ สมาชิก อบจ.ใหม่ ไม่เกินวันที่ 3 ก.พ. 2568 

 แน่นอนว่าการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งอบจ. พรรคเพื่อไทย รอบนี้ คือโจทย์ใหญ่ที่ทักษิณ รู้ดีว่า คู่แข่งคนสำคัญคือ พรรคก้าวไกล  แม้จากผลการเลือกตั้ง อบจ.เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ผลประกอบการ ของพรรคก้าวไกล ครั้งนั้นไม่เข้าเป้า 

 แต่สำหรับการปรับทัพเพื่อเตรียมเลือกตั้งนายกอบจ. ที่จะมีขึ้นในปี 2563 นั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ประกาศ แผน ผ่านเวที ก้าวต่อไป อุดรท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่จ..อุดรธานี ตอนหนึ่งว่า  การเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมาถึงว่า พรรคก้าวไกลต้องการชนะในหลายจังหวัด เพื่อขยายผลจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา 

 จากข้อมูลจะพบว่ามีประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ ที่คะแนนของพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 แต่ยังเหลืออีก 20-30 จังหวัด ที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นต้องเดินหน้ารณรงค์เต็มที่ 

 หมายความว่า ความพ่ายแพ้จากสนามเลือกตั้งอบจ. เมื่อปี 2563 ของพรรคก้าวไกลนั้น คือ บทเรียน ที่พรรคจะนำมาปรับแก้ และปิดจุดอ่อน ขณะเดียวกัน ยังเตรียม ขยาย และเสริมต่อ จุดแข็ง จากคะแนนเลือกตั้งสส.เมื่อปี 2566ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้ถึง 14ล้านเสียง


 ดังนั้นใช่ว่า พรรคก้าวไกล จะไม่มีโอกาส เอาชนะ พรรคเพื่อไทย และยิ่งเมื่อจนถึงนาทีนี้ รัฐบาล ยังไม่มีผลงาน เป็น จุดขาย เพื่อสนับสนุนผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ประกอบกับ กระแส ทักษิณฟีเวอร์ ไม่ขลังเหมือนเคยที่เป็นมา 


 ด้วยเหตุนี้ การปรับครม. เพื่อเปลี่ยนตัว รัฐมนตรีบางกระทรวง จึงถูกมองว่า นอกเหนือไปจากการส่งลงมาทำงาน ฝ่ายบริหาร  แล้ว ในหลายๆกระทรวง ยังมีภารกิจ ทำพื้นที่ เพื่อรองรับ งานการเมือง ควบคู่ไปด้วย ทั้งการคุม คน และ งบประมาณ !