ทวี สุรฤทธิกุล

คนไทยเมื่อเบื่อของเก่าก็ “สุ่ม” เอาของใหม่ ภายใต้ความคิด “ลองผิดลองถูก” มาหลายสมัย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายให้ผู้เขียนฟัง ตอนที่ไปสัมภาษณ์ทำวิทยานิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2527 ตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงกลาง ๆ (เพราะเข้ามาเป็นรัฐบาลใน พ.ศ. 2523 และสิ้นสุดใน พ.ศ. 2531) และพรรคกิจสังคมที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวพรรค ในฐานะพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาตอนนั้นสนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่ ท่านพูดขึ้นตอนหนึ่งว่า “เดี๋ยวคนก็เบื่อ” แล้วท่านก็เล่าเรื่องการเมืองในอดีตให้ฟังอย่างยืดยาว

ท่านบอกว่าคนไทย “ขี้เบื่อ” มาทุกยุคทุกสมัย ท่านเองก็เติบโตมาในยุค “เบื่อเจ้า” แม้ว่าตัวท่านเองจะมีเชื้อกษัตริย์ ชาติพงศ์วงศ์ตระกูลก็สนองรับใช้พระมหากษัตริย์มาโดยตลอด แต่พอท่านไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ก็ไปเจอกับนักเรียนไทยที่นั่น ส่วนใหญ่ก็เริ่มวิจารณ์พวกเจ้ากันอย่างรุนแรง โดยตัวท่านเองก็ตกเป็นเป้าอยู่ด้วย แต่พอท่านบอกว่าท่านก็เบื่อพวกเจ้าเหมือนกัน พวกนักเรียนก็ยอมรับท่านเข้าไปเป็นพวก ทำให้ท่านได้ทราบว่าเป็นเพราะพวกเจ้ากีดกันคนรุ่นใหม่ และพวกเจ้าบางคนก็ทำตัวยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน มีการเล่นพรรคเล่นพวกกันมาก มีการอ้าง “เจ้าพระเดชนายพระคุณ” มาชิงดีชิงเด่นกัน รวมถึงกีดกันคนที่ไม่ยอมเป็นพวก ซึ่งมีให้เห็นเป็นปกติในส่วนราชการทั้งหลาย อนึ่งนักเรียนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศ เกือบทั้งหมดก็มาจากส่วนราชการต่าง ๆ ดังนั้นอาจจะเรียกว่าสมาคมนักเรียนไทยในต่างประเทศ มีลักษณะเป็นที่รวมของ “พวกเบื่อเจ้า” ก็ได้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทันทีที่มีข่าวว่าคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยได้สำเร็จแพร่มาถึงประเทศต่าง ๆ ที่นักเรียนไทยเหล่านี้ศึกษาอยู่ นักเรียนเหล่านี้จึงแสดงความดีใจ ไชโยโห่ฮิ้ว อย่างที่ประเทศอังกฤษก็มีการเฉลิมฉลองกันอยู่หลายวัน

พอท่านกลับมาเมืองไทยใน พ.ศ. 2476 ท่านก็มารับราชการที่กระทรวงการคลัง แต่ก็ทำอยู่เพียง 2 - 3 ปี จากนั้นเมื่อแต่งงานแล้ว ท่านก็ไปทำงานที่ธนาคารไทยพานิชย์ที่เป็นภาคเอกชนในต่างจังหวัด ก่อนที่จะถูกเรียกตัวมาทำงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามสิ้นสุด แล้วก็มาเป็นอาจารย์พิเศษ ทั้งที่จุฬาฯและธรรมศาสตร์ ร่วมกับการเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ 2 - 3 ฉบับ ซึ่งในช่วงนี้เองที่ท่านได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเข้มข้นโดยลำดับ เพราะต้องเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จึงได้สัมผัสว่าคนไทยเริ่มเบื่อคณะราษฎรมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์บางฉบับในยุคนั้นเรียกพวกผู้นำของคณะราษฎรว่า “เจ้าพวกใหม่” จนถึง พ.ศ. 2489 ก็มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับ พ.ศ. 2489) ที่เพิ่งประกาศใช้ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ท่านก็ตั้งพรรคก้าวหน้า แล้วไปจดทะเบียนเป็นพรรคแรก ท่านก็ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. แต่พอจะตั้งรัฐบาล ฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ รวบรวมเสียงกันได้เสียงข้างมาก ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวท่านก็ได้ไปรวมกับ ส.ส.ฝ่ายที่สนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ ตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน กระทั่งเกิดกรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต รัฐบาลของนายปรีดีก็ถูกรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นอันสิ้นสุดยุค “คณะราษฎร - เจ้าพวกใหม่”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าจากนั้นทหารก็เป็นใหญ่มาหลายปี จนมาถูกท้าทายโดย “เด็ก  ๆ” คือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2500 ก็เริ่มมีการโจมตีการตั้งพรรคการเมืองของทหาร คือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง ครั้นเลือกตั้งแล้วนักศึกษาก็ออกมาเดินขบวนต่อต้าน เพราะรัฐบาลได้โกงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม กระทั่งสื่อมวลชนเรียกการเลือกตั้งครั้งนั้นว่า “สกปรกที่สุด” นำมาซึ่งการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500 โดยพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ภายหลังก็ได้รับการอวยยศให้เป็นจอมพล) ภายหลังเมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตลง จอมพลถนอม กิตติขจร ก็สืบทอดอำนาจต่อใน พ.ศ. 2506 และมีอำนาจมาจนถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 โดยพรรคที่ทหารตั้งและมีจอมพลถนอมเป็นหัวพรรคนั้นได้ครองอำนาจ แต่ก็เอา ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลนั่นเองไม่อยู่ ต้องยุบสภาแต่ในปลายปี 2514 จากนั้นก็เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลกับกองทัพรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันนำมาซึ่งเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งก็เกิดขึ้นจากน้ำมือของ “เด็ก ๆ” คือนิสิตนักศึกษานั้นอีกเช่นกัน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อมโยงให้เห็นว่า อาการเบื่อของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2516 นั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ “เบื่อความกร่างของกลุ่มคนที่มีอำนาจ” ทั้งคณะราษฎรและนายทหาร ที่พอได้อำนาจแล้วก็เหลิง ไม่เห็นหัวประชาชน ดูแคลนคนรุ่นใหม่ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ทั้งหลายนั้น ในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เล่นการเมืองอยู่แต่ในรัฐสภา ทั้ง ส.ส.กับ ส.ว.ก็เอาแต่แย่งชิงผลประโยชน์กันเอง ในที่สุดแม้พลเอกจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ “ดี” เพียงใด ก็สร้างความเบื่อหน่ายให้กับคนไทยได้ ถึงขึ้นที่มีการยื่นฎีกาให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนต้นปี 2531  แต่พลเอกเปรมก็ทนอยู่ต่อมาจนถึงหลังเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2531 พอเลือกตั้งเสร็จก็ประกาศไม่รับที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยวาทะอมตะว่า “ผมพอแล้ว”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2538 แต่ถ้าท่านอยู่มาจนถึงยุคทักษิณใน พ.ศ. 2544 ต่อเนื่องมาจนถึงยุคเศรษฐา(หรือร่างทรงทักษิณ)ใน พ.ศ.นี้ ท่านก็คงจะมองการเมืองไทยด้วยแนวคิดที่ท่านคุ้นเคยมาตลอดชีวิตนั้นว่า พรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณก็จะต้องมีอันเป็นไปด้วย “ความเบื่อ” คนคนไทยนี้อย่างแน่นอน และถ้าเราจะดูอีกบริบทหนึ่งคือการสิ้นอำนาจ(และบารมี)ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับระบอบ คสช. ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน คือคนไทยรุ่นใหม่เกิดความเบื่อทหารอย่างรุนแรง แต่พอมาได้เห็นการกลับมาของนักโทษชายทักษิณ แล้วมาสร้างอภินิหารไม่ติดคุกกลับออกมาพักโทษที่บ้าน ร่วมกับที่สามารถ “เพ่นพ่าน” ไปได้ทั่วราชอาณาจักร พร้อมกับมีคนมาแวดล้อมดุจ “เทวดา” นั้น คนไทยก็จะเบื่อทักษิณอย่างรุนแรงได้เช่นเดียวกัน

ผู้เขียนเชื่อพรรคก้าวไกลอาจจะมองการเมืองไทยในทำนองนี้ คือ “สร้างและรอ” ให้คนไทยเบื่อพวกคนเก่า ๆ ที่ตอนนี้ก็สามารถกำจัดทหารไปได้แล้วบางส่วน ต่อไปก็กำจัดคือ “กร่างเก่า” อย่าง นช.ทักษิณ ที่จะนำหายนะมาสู่พรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่แข่งนั้นด้วย กับสุดท้ายสถาบันที่คนไทยบางส่วนยังอยากรักษาไว้

สัปดาห์หน้าจะมาอธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยยุทธศาสตร์แบบนี้ ก้าวไกลจะไปไกลได้ถึงไหน?