ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของคนรู้จักของผู้เขียน ที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว อย่างน้อย 3 คน อาจเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงมาก ที่ทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง เกิดภาวะ ฮีทสโตรก โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คนมีช่วงอายุที่น่าสนใจคือ 77 ปี 67 ปี และ37 ปี โดยจะพบว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดมีอายุน้อยลง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ผู้เสียชีวิตจะมีอาการวูบหมดสติคล้ายกัน แต่โรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจนั้น มีความต่างกันเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ

สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง  ว่า  “เส้นเลือดสมองกับเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นคนละเรื่องกัน อาการเบื้องต้นไม่คล้ายกัน โรคหลอดเลือดสมอง แขนขาจะอ่อนแรงครึ่งซีก ข้างใดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยวหรือปากตก พูดไม่ออก พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน อาการเกิดขึ้นทันทีทันใด ขณะที่นั่ง เดิน เหมือนกับหมดแรง เสี่ยงต่อการล้มได้ บางคนพูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ทำตามสั่งไม่ได้ ส่วนอาการของหัวใจจะเจ็บแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่  ปวดร้าวไปแขน ปวดร้าวขากรรไกร ร้าวไปทางด้านซ้าย เหงื่อแตก ใจสั่น ส่วนอาการต้องสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มักจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่เคยเจ็บแน่นหน้าอกแบบนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจเหมือนกันได้ทั้ง 2 โรค คือ เป็นลมล้มเพราะหัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ มีกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนทำงานไม่ไหว ก็จะหมดสติ สิ่งที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเป็นลมหมดสติ หัวใจอาจหยุดเต้น ต้องมีการปั๊มหัวใจหรือใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาเต้น 

ข้อมูลเมื่อปี 2564 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากถึง 13 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิต 5 ล้านคนทั่วโลก/ต่อปี ในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิต 45,000 คนต่อปี พบมากในอายุ 55 ปีขึ้นไปยิ่งอายุเพิ่มขึ้นโอกาสจะเกิดโรคดังกล่าวก็มีมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่อายุต่ำกว่านี้ โดยเฉพาะอายุที่น้อยกว่า 45 ปี ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่พบในคนอายุน้อย ส่วนสถิติหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2564 พบผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 430,000 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี จะเห็นได้ว่า คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด”

อย่างไรก็ตาม เราๆท่านๆ ควรตระหนักว่า ทั้ง 2 โรคนั้นเป็นโรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง โดยเกิดจากพฤติกรมการใช้ชีวิต ไม่ใช่โรคติดต่อ ฉะนั้นจึงเป็นโรคป้องกันได้จากการลดพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นตรวจเช็กสุขภาพ  ที่สำคัญคือ อย่าประมาท หรือชะล่าใจ แม้แต่คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็ต้องหมั่นตรวจเช็กสุขภาพและสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆของร่างกาย สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดีปลอดโรคปลอดภัย