ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าสูญเสียการควบคุมฐานทัพบริเวณ จ.เมียวดี ให้กับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union: KNU) จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวก็ยังคง “ไม่นิ่ง” สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่ความกังวลซึ่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อประเทศไทย สัปดาห์นี้เราจะมาวิเคราะห์กันถึงผลกระทบของสงครามในเมียวดีต่อบริบทความมั่นคงของประเทศไทยกันครับ โดยจะขอวิเคราะห์ในมิติความมั่นคงทางสังคม ซึ่งจะแตกต่างออกไปจากมิติการทหารอย่างที่ผู้รู้หลายๆท่านได้วิเคราะห์กันไปแล้ว พร้อมแล้ว ลุยครับ!
ในประการแรกสุด ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบจากการข้ามแดนของมวลมนุษย์ที่หนีภัยสงครามจากทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาล ดังที่ได้เคยมีข่าวกันไปก่อนหน้านี้ จุดนี้เป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งต่อบทบาทและจุดยืนของประเทศไทย...ที่แน่นอนว่าสังคมโลกจะต้องจับตาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฟากฝั่งของผู้ที่ยึดมั่นในแนวคิดมนุษยธรรมจากข่ายเสรีนิยม ย่อมจะต้องจับตาดูว่าประเทศไทยจะให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” มากน้อยแค่ไหน ในรูปแบบใด หรือจะผลักดันคนเหล่านั้นกลับไปสู่สมรภูมิที่อันตราย
แค่ประเด็นแรกก็ต้องบอกว่า “หัวจะปวด” แล้ว เพราะเรื่องนี้บอก “ถูกหรือผิด” ได้ยากเหลือเกิน จะช่วยเหลือก็อาจจะวุ่นวาย ใช้งบประมาณ และก็อาจถูกโจมตีจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายว่า “ไปช่วยมันทำไม” ในขณะที่ผลักดันกลับก็อาจจะง่ายในการบริหารจัดการ ไม่เปลืองงบประมาณ ตัดช่องน้อยแต่พอตนไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาหยุมหยิมต่างๆ แต่แน่นอนก็อาจหนีไม่พ้นการถูกประณามจากฝ่ายเสรีนิยมว่าใจดำและ “ไม่มีมนุษยธรรม”
ประการที่สอง นอกเหนือจากผลกระทบที่อาจมาจากนอกประเทศแล้ว ก็อาจมีผลกระทบจากภายในประเทศเช่นกัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยพลังของโซเชียลมีเดียและความเปิดกว้างของโลกอินเตอร์เน็ต เมื่อโลกออนไลน์หรือโลกโซเชียลทำให้ผู้คนสามารถแสดงออก แสดงความเห็น และส่งเสียงดังในสังคมได้แบบที่ไม่สามารถทำได้ในอดีต ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะนำมาซึ่งข้อดีหลายประการแล้ว ก็ยังนำมาซึ่งความท้าทายของการบริหารประเทศเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อผู้คนสามารถส่งเสียงแสดงความต้องการได้มาก ปัญหาและความต้องการของประชาชนก็ย่อมแสดงตัวตนออกมาได้มากเช่นกัน ความต้องการของคนในสังคมจึงเสมือนว่าเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งมักสวนทางกับการบริหารประเทศโดยทั่วไปที่มักมีโครงสร้างและขั้นตอนที่ซับซ้อน ทำให้การรับมือเข้าทำนอง “ตามไม่ทัน” กับความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนในสังคม กลายเป็นความปวดหัวของรัฐบาลทั่วโลกและอาจเลยเถิดจนกลายเป็น “ความไม่มั่นคงทางการเมือง” ได้
อีกมิติที่สำคัญ คือการที่โลก “เล็กลง” ด้วยการเชื่อมโยงที่ไร้ขีดจำกัด จากเดิมที่ปัญหาในประเทศหนึ่งอาจไม่ได้รับรู้จากคนในอีกที่หนึ่ง กลายเป็นเราสามารถรับรู้ปัญหาได้ real time เมื่อผนวกสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน สิ่งที่ตามมาคืออาจเกิด “ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม ในเรื่องที่ห่างจากเราหลายพันไมล์” อาจฟังเป็นเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก เช่น เมื่อเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส ผู้คนในบางสังคมแยกเป็นสองฝ่าย จนเกิดการถกเถียงลามไปจนถึงการประท้วงหรือการกระทบกระทั่งกันในสังคมของหลายๆประเทศ ด้วยประเด็นของความขัดแย้งที่อยู่แสนไกลและไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง
ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาอีกประการ คือความมั่นคงทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของความเห็นต่าง ด้วยพลังแห่งโซเชียลมีเดียดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
เรียกว่า พลังของ โลกาภิวัตน์ ที่แอดวานซ์มากขึ้นทุกวัน อาจทำให้ “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา กลายเป็นเรื่องของเรา” ไปได้ซะอย่างงั้น ในบ้านเราก็เริ่มมีแล้วเช่นกัน เช่นการเรียกร้องว่าให้รัฐบาลเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยกรณีเมียนมา หรือ การต่อว่ารัฐบาลที่ช่วยเหลือผู้อพยพจากฝั่งรัฐบาลทหาร เป็นต้น โชคยังดีที่ยังอยู่ในระดับของคอมเมนต์ในโลกโซเชียล ยังไม่ได้เจริญเติบโตจนกลายเป็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
จะเห็นได้ว่า การเมืองภายนอกและการเมืองภายใน นับวันจะยิ่งแยกออกจากกันได้ยากขึ้นไปทุกที ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทำได้และควรทำ คือการอธิบายและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
เมื่อการเมืองภายนอกกลายเป็นการเมืองภายใน ด้วยความเชื่อมโยงและอ่อนไหวของสังคมและข้อมูล อารมณ์อาจอยู่เหนือเหตุผล...จนลืมหลักการ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองว่าเลวร้าย แต่ควรมองด้วยความเข้าใจ และควรทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มบอกว่าเราควรยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม แต่พร้อมๆกันก็ตั้งคำถามว่าไปช่วยผู้เดือดร้อนฝ่ายรัฐบาลทหารทำไมเนื่องด้วยเป็นเผด็จการ ก็เล่นเอาปวดหัวว่า ตกลงหลักการมนุษยธรรมมันเลือกระบอบการปกครองด้วยหรือ? ทำไมมันช่างขัดแย้งกับหลักการมนุษยธรรมที่เราเคยร่ำเรียนกันมาเหลือเกิน? ก็ต้องอาศัยความเข้าใจและการทำความเข้าใจกันพอสมควร ว่าตกลงจะสนับสนุนเรื่องใดกันแน่ ตลอดจนทำความเข้าใจถึงกระบวนการทางการทูตที่มีหลักปฏิบัติในเวทีระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อย
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเป็นความย้อยแย้งและอ่อนไหวที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับบทบาทของโลกโซเชียล ที่นับวันจะยิ่งสับสนว่าเรื่องไหนเรื่องจริง...เรื่องไหนไม่จริง เรื่องไหนหลักการ...เรื่องไหนหลักกู
เมื่อปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้ด้วยการสื่อสาร รัฐบาลก็ควรรับมือด้วยการสื่อสารเช่นกัน แต่ต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจ ไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู และต้องมุ่งเป้าไปที่การสื่อสาร “หลักการ” เพื่อเอาชนะ “หลักกู” ด้วยสินติวิธี
เอวัง