ในภาวะโลกคลั่ง ร้อนระอุที่ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คน ที่อาจจะคลั่งไปตามภาวะเดือดของอากาศ หากแต่ที่น่ากังวลก็คือปัญหาที่ผู้คนเจ็วป่วยภายใน จากปัญหาของยาเสพติด ที่วันเลวคืนร้ายบุคคลเหล่านั้นก็มีภาวะอาการกำเริบ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนรอบข้างกระทั่งก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชน และส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม เศรษกิจของประเทศ
การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จึงเป็นงานสำคัญ โดยมีข้อมูลจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ระบุสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัด ก็เริ่มมีจำนวนมาก ซึ่งในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม รวม 195,604 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยสีแดง 12,614 คน ผู้ป่วยสีส้ม 5,089 คน ผู้ป่วยสีเหลือง 3,269 คน และผู้ป่วยสีเขียว 174,632 คน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 26 ก.พ.-3 มี.ค.67 มีจำนวน 532 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมในปี 2567 แล้ว จำนวน 46,566 คน โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยังเป็นสีเขียว จำนวนถึง 36,825 คน
“รัฐบาล มีความต้องการที่จะทำให้ยาเสพติด พ้นไปจากประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน ส่วนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนี้ ก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยาก เพราะการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดนั้น เป็นปลายน้ำ โดยต้นน้ำคือ การปราบปรามผู้ผลิตยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ไม่ได้จัดการกับผู้ผลิตอย่างจริงจัง ในขณะที่สังคมโลก ก็จับตาว่า ไทยจะดำเนินการอย่างไร เพราะแหล่งผลิตยาเสพติด อยู่ติดกับไทย คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ชะลอให้มีผู้ติดยาเสพติดน้อยลง พร้อมช่วยดูแลไม่ให้มีผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยบูรณาการกับหน่วยงานที่ทำต้นน้ำ ทั้งการปราบปราม และยึดอายัดทรัพย์ โดย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การบำบัดผู้ป่วยสีเขียว จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยขณะนี้ ได้ใช้ระบบ CBTx ชุมชนล้อมรักษ์ คือ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว ที่เป็นผู้ป่วยยาเสพติดอย่างเดียว ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย โดยเริ่มต้นประมาณ 200 อำเภอ กว่า 31 จังหวัด แต่ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยสีเขียว ก็ควรขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนการบำบัดผู้ป่วยสีแดง คือ ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาดคลุ้มคลั่ง ควรมีการรองรับได้ทั่วประเทศด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้มากขึ้น
นับเป็นความเคลื่อนไหวของความพยายามในการแก้ไขปัญหา กระนั้นเราเห็นด้วยว่า ปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างถาวร ต้องตัดวงจรที่ต้นตอของยาเสพติด การจัดการของผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งยกระดับอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับกระบวนการปลายน้ำ