ทวี สุรฤทธิกุล

คนไทยเบื่อง่าย ชอบทดลอง ชอบความแปลกใหม่ รวมถึงความพิสดาร หรือ “อภินิหารแหวกแนว”

การมีไลน์อยู่ในกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่ม ทำให้เราได้เห็นความหลากหลายของผู้คนที่ได้มีการจัดกลุ่มกันไว้เป็นพวก ๆ ในแต่ละกลุ่มไลน์นั้น คือแต่ละกลุ่มไลน์มักจะมารวมกลุ่มกันตามความสนใจ และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ในแนวที่กลุ่มอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นหลัก ซึ่งถ้าเราคิดจะเป็นนักวิจัยหรือรวบรวมความรู้บางอย่าง เราก็อาจจะพอ “อนุมาน” หรือคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างได้ อย่างในเรื่องของการเมืองที่จะเอามานำเสนอในวันนี้

ในไลน์กลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียน “แอบ” เข้าไปเป็นสมาชิกอยู่ (ที่เรียกว่า “แอบ” ก็เพราะมีรุ่นน้องคนหนึ่งเชิญให้เข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยไม่ได้ตั้งใจโดยตรง เพียงแต่พอเข้าไปเป็นสมาชิกแล้วก็ได้รับรู้อะไร “แปลก ๆ” จนไม่อยากถอนตัวออกมา) สมาชิกของไลน์กลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่ง ช่วงที่ผู้เขียนเข้าเป็นสมาชิกเป็นช่วงปลาย ๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (ราว พ.ศ. 2565) สมาชิกหลายคนสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก ถึงขนาดที่บางคนก็ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง (ที่กำลังจะมีต่อมาในปี 2566) เพราะเบื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่า มีแต่พวกกอบโกยโกงกิน ดีแต่พูด ทำไม่ได้จริง และไม่ซื่อสัตย์จงรักภักดีเหมือนทหาร

ในขณะเดียวกันสมาชิกของกลุ่มไลน์นี้ หลายคนก็โจมตีหรือหาข้อตำหนิพรรคการเมืองที่กำลังมาแรงอย่างพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในเรื่องความไม่จงรักภักดี รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ก็มีเรื่อง “ทายาทอสูร” ลูกสาวนักโทษหน้าเหลี่ยม กับอภิมหาโคตรโกงของนักการเมืองตระกูลนี้ แต่เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งจริง ๆ ในเดือนพฤษภาคม 2566 สมาชิกในกลุ่มก็เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่พอพลเอกประยุทธ์ไม่ลงก็ยังทุ่มเทแรงเชียร์ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพลเอกประยุทธ์ รวมถึงที่ให้ช่วยกันเลือกพรรคในฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือพรรคพลังประชารัฐที่พลเอกประยุทธ์เคยอยู่มานั้นด้วย

ครั้นผลเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคในฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยหลุดลุ่ย ทำให้สมาชิกในกลุ่มไลน์หลายคนรู้สึกเป็นกังวล โดยกลัวว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมโทรม โดยเฉพาะภัยร้ายที่จะมาถึงสถาบันทหารและพระมหากษัตริย์ แต่พอพรรคเพื่อไทยหันมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคในฝ่ายอนุรักษ์นิยม หลายคนในกลุ่มไลน์นี้ก็รู้สึก “ดีใจ” ว่าทหารคงจะสามารถควบคุมพรรคเพื่อไทยได้ พร้อมกับที่มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลกำลังจะถูก “กำจัด” ให้พ้นไปจากระบบการเมืองไทย ภายใต้ “ดีลลับลังกาวี” แม้จะไม่พอใจข่าวการได้กับมาของนักโทษหน้าเหลี่ยม แต่ก็คิดว่าดีกว่าให้เกิดการโค่นล้มสถาบัน

ขณะนี้ใกล้จะครบรอบ 1 ปีภายหลังการเลือกตั้ง พร้อมกับที่มีข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตัดสินยุบพรรคก้าวไกลในโอกาสเดียวกันนี้ บางคนในกลุ่มไลน์นี้ก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยยังมีความคิดที่ให้ “ตัวแทน” ของพลเอกประยุทธ์ อย่างนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง ขณะเดียวกันบางคนก็อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ เผื่อจะได้เพิ่มจำนวนของ ส.ส.ในฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในขณะที่บางคนก็มองว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นจากกรณีการเข้ามา “กระตุ้น” ของ นช.ทักษิณ รวมถึงที่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงจะไม่หายไปไหน แต่จะกลับมาใหม่เป็นจำนวนมากในชื่อพรรคอะไรก็ได้นั้นเช่นกัน

มีเรื่องขำ ๆ จากความเห็นของสมาชิกในกลุ่มไลน์นี้บางคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เชียร์นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่แสดงความคิดเห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์จะกลับมายิ่งใหญ่และได้ ส.ส.เป็นจำนวนมากกว่าพรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคก้าวไกลนั้นอย่างแน่นอน เพราะนายพีระพันธ์เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ที่สำคัญเป็นที่ไว้วางใจของฝ่ายทหาร และน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยจำนวนมาก !

พอผู้เขียนได้อ่านพบความเห็นแบบนี้ก็รู้สึกตกใจมาก เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นความเห็นที่ออกมาจากกลุ่มของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปัญญาชนอาวุโส” กลุ่มหนึ่งของประเทศไทย เพราะแต่ละคนน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และเมื่อมาเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์นี้ก็ต้องจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นอย่างน้อย ซึ่งหลายคนก็เคยมีตำแหน่งแห่งหนที่ใหญ่โตในฝ่ายบริหารขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน ตกใจว่าอายุ ความรู้ และประสบการณ์ขนาดนี้ ยังมองการเมืองไทยไม่ทะลุหรอกหรือ แต่ครั้นจะเข้าไปชี้แนะท่านเหล่านี้ในกลุ่มไลน์ ก็เกรงว่าจะทำให้เกิดความแตกแยก (และอาจจะถูก “ลบชื่อ” ออกจากกลุ่ม) จึงขอใช้พื้นที่ในคอลัมน์ที่เขียนเป็นประจำอยู่นี้มาชี้แจง ซึ่งจะได้ชี้แจงให้ออกไปในวงกว้างได้มากกว่า รวมทั้งที่จะได้แสดงอรรถาธิบายในเชิงวิชาการได้มากกว่า เพราะในกลุ่มไลน์มักจะมีคนที่ชอบ “หมั่นไส้” คนที่ทำตัวโดดเด่นมากเกินไป รวมถึงที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบอ่านอะไรที่เป็นวิชาการอีกด้วย

วิชาการที่ผู้เขียนจะนำมาเสนอนี้ เป็นสิ่งที่ครั้งแรกผู้เขียนได้ยินมาจาก “กูรูการเมืองไทย” เจ้าของฉายา “ซือแป๋ซอยสวนพลู” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งที่ได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่าน ในช่วง พ.ศ. 2520 – 2532 โดยบ่อยครั้งท่านได้เล่าเรื่องการเมืองไทยในยุคสมัยของท่าน ที่ท่านได้ลงเล่นการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 กระทั่งวางมือใน พ.ศ. 2528

ท่านกล่าวว่า “การเมืองไทยไม่ได้ลึกซึ้งอะไร ก็เหมือนคนไทยนั่นแหละ ที่ชอบพูดว่าไม่เป็นไร อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ขอแต่อย่ามารบกวนเซ้าซี้ หรือรุกรานอะไรมากไป ใครมาปกครองก็ได้ เบื่อนักก็เปลี่ยนใหม่ ยิ่งมีเลือกตั้งบ่อย ๆ คนไทยยิ่งชอบ เพราะเป็นโอกาสเดียวที่คนไทยจะได้รับการเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ”

สาระสำคัญในคำพูดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ตามความเข้าใจของผู้เขียนก็คือ “คนไทยชอบให้มีเลือกตั้งบ่อย ๆ จะได้เปลี่ยนรัฐบาลไปเรื่อย ๆ” สอดคล้องกับทฤษฎีการเมืองไทยที่ผู้เขียนยกมาในบรรทัดแรกของบทความนี้ว่า “คนไทยเบื่อง่าย ชอบทดลองและความแปลกใหม่ รวมถึงอภินิหารแหวกแนว”

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทยมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงยุทธ์ศาสตร์ของพรรคก้าวไกล(หรือจะเป็นพรรคอะไรต่อไปอีกก็ได้) ที่มีรายละเอียดพอสมควร เชิญติดตามในสัปดาห์หน้าครับ