รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดกิจกรรมจิบกาแฟกับประธานรัฐสภา โดยได้รับเกียรติจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพูดคุย เรื่อง “จากครูสู่ประธานรัฐสภา” โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมจิบกาแฟเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ให้กับผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต
กิจกรรมจิบกาแฟ “จากครูสู่ประธานรัฐสภา” เป็นประสบการณ์ชีวิตของครูที่ดูธรรมดา ๆ แต่ไม่ธรรมดา (มาก ๆ) คนหนึ่งที่มีเส้นทางเดินไปถึงจุดสูงสุดด้านนิติบัญญัติตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” สาระและข้อคิดดี ๆ หลายประการที่ยังคงทันสมัยเสมอ มาติดตามอ่านกันครับ
พลาดสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนอายุ 19 ปี เรียนจบ ม.8 แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด เพื่อนชวนไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะต้องการช่วยเพื่อนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้องหาคนมาสอนวิชาสามัญแทน จึงเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางอาชีพครูที่ด้วยเงินเดือนแรกเพียง 600 บาทเท่านั้น แต่ก็ทำเพราะไม่อยากให้ชีวิต “ว่างเว้น”
ทุ่มเทชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณความเป็นครู ด้วยความคิดที่ว่าต้องไม่เป็นครูที่ธรรมดา ๆ ทำให้ชีวิตเดินทางมาได้ไกลในวันนี้ ทั้งที่ไม่ได้มีปริญญาใด ๆ ขณะนั้น แต่ก็มุ่งมั่นเอาดีทางครู จึงทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณให้กับเด็กและอาชีพครู ในปีแรกก็มุ่งมั่นสอบครู 5 ชุดวิชา สอบผ่าน 4 ชุดวิชา ทำให้ยังไม่ได้วุฒิครูจึงต้องมาอบรมเพิ่มที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา อีก 1 ชุดวิชา (วิทยาศาสตร์) และก็ได้เป็นครูสมความตั้งใจ
ยอมลำบากและกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ ไม่เคยกลับบ้านเลยเมื่อโรงเรียนหยุดวันศุกร์กับวันเสาร์ ตระเวนออกไปดูเด็กที่อยู่ตาม
บ้านนอกที่เข้ามาเรียนในตัวเมือง ไปดูว่าเด็กละหมาดหรือไปวัดหรือเปล่า ชาวบ้านเห็นครูคนนี้แปลกดี โรงเรียนนี้นอกจากได้วิชาการแล้ว ยังได้คุณธรรมจริยธรรมอีก พอทำอยู่ปีกว่า ๆ เท่านั้น ชาวบ้านก็แห่ส่งเด็กมาเรียนจาก 98 คน เพิ่มเป็น 400 คน ก็คิดพลิกแพลงต่อส่งเด็กสอบสมทบในชั้นประโยค ม.3 และ ม.6 กับโรงเรียนประจำจังหวัดแทนการสอบ กศน.
โลกของครูเต็มไปด้วยระเบียบล้อมกรอบ แต่ด้วยความที่ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และเห็นว่าเด็กต้องเล่น ต้องออกกำลังกาย ต้องแข่งกีฬา แต่โรงเรียนที่เคร่งศาสนาก็จะไม่ให้เด็กนุ่งกางเกงขาสั้น เด็กเตะบอลไม่ได้ ก็ปรับเปลี่ยนระเบียบใหม่ แหกประเพณีที่ล้าสมัย จนครูบางคนต่อต้าน
ขอลาออก ก็เรียกมาพบ คุย และให้ลาออก แต่ก็ไม่มีครูคนใดลาออก ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ไม่อยู่แต่ในกรอบ เมื่อนั้นเรื่องอะไร ๆ ที่ดีงามในโลกนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้
ผลของการทุ่มเทเป็นครู ยอมลำบาก คิดนอกกรอบ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ครูใหญ่” แต่เพราะอายุยังไม่ครบ 20 ปี จึงต้องทำหน้าที่รักษาการไปก่อน การเป็นครูใช่ว่าการเป็นผู้สอนอย่างเดียว ต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณและทุ่มเทจะมีความสุข ความสุขที่ได้คือ ได้บุญ การที่วันนี้ได้เป็นประธานรัฐสภา ก็เพราะบุญที่ทุ่มเทในวันนั้น วันที่เป็นครู เมื่อเด็กมาเรียนเพิ่ม เด็กได้ความรู้ เด็กจบเป็นกำนัน เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นอบจ. ก็หันกลับมาสนับสนุนครูคนเก่า ถ้าวันนั้นไม่ทุ่มเท บุญจะไม่มาถึงประธานรัฐสภา บุญเกิดจากการกระทำด้วยใจและการคิดนอกกรอบเสริม
เรียนต่อครู โดยไม่ต้องสอบ เมื่อพลาดสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็หันมาเอาดีทางครูแทน ไม่คิดจะเรียนมหาวิทยาลัยอีก แต่โรงเรียนที่สอนอยู่ใกล้กับศาลากลาง จอมพลประภาส รมต.มหาดไทย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น ได้เห็นผลงานเชิงประจักษ์ของโรงเรียน จึงเสนอหนทางให้ได้เข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นี่ก็เป็นผลบุญที่ได้เข้าเรียน เพียงการสอบสัมภาษณ์เท่านั้น การได้มาเรียนก็ได้เป็นกำไร เพราะหลักสูตรให้เรียน 4 ปี แต่ใช้เวลาเรียน 5 ปี เพราะหลงใหลการทำกิจกรรม ปิดเทอมก็ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นผู้แทนคณะ หัวหน้าคณะ กรรมการสโมสร จะเห็นว่าการทำกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานในเวลาต่อมา
จากครูมาเป็น สส.อย่างไร? เป็นครูก็ทำให้เด็กได้แค่ในโรงเรียน แต่ถ้าเป็น สส. ก็ทำให้เด็กได้ทั่วประเทศ และคิดนึกเองว่าจะเป็นนักการเมืองที่ดีกว่าบางคนได้ ก็สนใจสมัครสมาชิกพรรคการเมือง แต่ด้วยอายุยังไม่ถึง 30 ปี สมัครไม่ได้ พอปี 2522 ก็ได้ลองลงสมัคร ส.ส. ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรกก็ได้เป็น ส.ส. และก็ลำบากมาก
วิธีการหาเสียงไม่เหมือนใคร ใช้การปราศรัย ท้าทายมาก ไม่ยอมจ่าย เพราะจิตเชื่อว่าในสังคมต้องมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี ถ้าคนไม่ดีมากกว่าสังคมจะอยู่ได้อย่างไร และเวลาสมัคร ส.ส. ก็ไม่คิดว่าอยากได้อย่างเดียว พร้อมที่จะสอบตกและสอบได้ ถ้าสอบตกก็แค่ไม่ได้ทำงานเป็นผู้แทน ก็กลับมาเป็นครูอย่างเดิม แต่บังเอิญโชคดี ไม่เคยสอบตกทั้ง 11 ครั้ง ตลอดเวลา 44 ปี
คนเราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว ได้เป็น สส.แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี รักษาคำมั่นสัญญา มีสัจจะ
พูดแล้วต้องจำ ต้องทำ การเป็นนักการเมืองที่ดีก็ให้ทำตัวเหมือนกับรวงข้าวที่เมล็ดเต็ม เพราะมีค่าและเลี้ยงคนได้ อย่าเป็นเหมือนรวงข้าวที่เมล็ดลีบหรือไม่มีเมล็ดข้างใน การเป็นเมล็ดข้าวที่เต็มรวงคือ รู้จักโน้มลง ไม่หยิ่งผยอง รับฟังให้มาก พูดให้น้อย และใช้สติปัญญา
ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานรัฐสภา ก่อนเป็นประธานรัฐสภา เคยเป็น รมต.หลายสมัยและหลายกระทรวง ก็ยากเช่นกันเพราะ รมต. มีได้ 35 คนเท่านั้น ซึ่งตอนมาเป็นนักการเมืองก็ไม่คิดว่าจะเป็น รมต. แค่ได้เป็นเลขาฯรมต. ก็เท่แล้ว แต่คนเราก็แล้วแต่บุญวาสนาแล้วแต่พระเจ้ากำหนด เรียกว่าเป็นโดยอาวุโสและพระเจ้ากำหนดทั้ง รมต.คมนาคม มหาดไทย และเกษตรฯ แต่สิ่งที่อยากเป็นและไม่ได้เป็นคือ รมต.ศึกษาธิการ
สำหรับตำแหน่งประธานรัฐสภานี้ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องเป็น จริง ๆ แล้วไม่น่าจะต้องเป็น แต่เพราะเป็นกำหนดของพระเจ้า ต้องหาคนกลาง และต้องตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ!!! เส้นทางจาก “ครู” สู่ “ประธานรัฐสภา” ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นั้นจึงไม่ธรรมดามาก
จริง ๆ ระหว่าง ‘บุญ’ กับ ‘การกระทำ’ ท่านผู้อ่าน คิด เชื่อ และเห็นประการใด โปรดเล่าสู่กันฟังด้วยครับ...