เสือตัวที่ 6

การสู้รบในเมียนมาระหว่างกองทัพแห่งชาติกับกลุ่มต่อต้านกลุ่มต่างๆ นับวันจะมีความตึงเครียดมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนในเมียนมาซึ่งเดิมก็มีการเข้าเมืองของไทยทั้งถูกกฎหมายและที่ผิดกฎหมายด้วยการหลบหนีเข้าประเทศจำนวนมากอยู่แล้วและได้ขยายตัวการเข้าเมืองมากขึ้นอย่างมหาศาลจากการลี้ภัยสงครามที่กำลังเข้มข้นและภัยจากความอัตคัดขัดสนในการดำรงชีพ และล่าสุดนี้สถานการณ์ในเมืองเมียวดีที่กำลังตึงเครียดหนักเพราะในที่สุดทหารกองทัพรัฐบาลเมียนมากองพัน 275 หรือค่ายผาซอง ซึ่งเป็นค่ายใหญ่สุดท้ายของกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาที่เมืองเมียวดี ติดชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยอมวางอาวุธขอยอมจำนนต่อกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังประชาขน (PDF) ที่บุกโจมตีอย่างหนักหน่วงแล้ว เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาได้รวมกำลังเข้าโจมตีกองพัน 275 อย่างหนัก ก่อนที่สุดท้ายทหารเมียนมาประมาณ 400-500 นายที่ค่ายผาซองได้ยอมจำนนต่อกลุ่มต่อต้านที่นำโดยกลุ่มกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ส่งผลให้มีประชาชนในเมืองเมียวดีอพยพหนีภัยข้ามมายังชายแดนเข้ามาบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก

มีรายงานข่าวว่า ได้มีทหารเมียนมาจำนวนหนึ่ง ได้หลบหนีออกจากค่ายผาซอง พร้อมเปลี่ยนชุดเครื่องแบบจากเครื่องแบบทหารเมียนมาเปลี่ยนเป็นชุดชาวบ้านแล้วทหารเมียนมาทั้งหมดได้เข้ามาหลบอยู่ภายในด่านพรมแดนถาวรเมียวดีแห่งที่ 2 ตรงข้ามกับด่านพรมแดนถาวรแม่สอดแห่งที่ 2 จนเกิดความตรึงเครียด ซึ่งจากสถานการณ์ความตรึงเครียดล่าสุดทำให้ทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนูพร้อมอาวุธครบมือต้องนำกำลังทหารเข้าไปตรึงรอบด่านพรมแดนถาวรแม่สอดแห่งที่ 2 เชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ในขณะที่โฆษก KNU ระบุว่า ทหารของกองทัพประมาณ 200 นายถอยร่นไปปักหลักบริเวณสะพานที่เชื่อมระหว่างฝั่งเมียวดีกับ อ.แม่สอด โดยเชื่อว่าทหารกลุ่มนี้น่าจะยังมีอาวุธอยู่ นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ยังระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้หารือกับทางการไทยเกี่ยวกับกลุ่มทหารดังกล่าวแล้ว โดยไม่เปิดเผยจำนวนกำลังพลในกลุ่มนี้ รวมถึงยอมรับว่า สมาชิก KNU บางส่วนเข้าไปในพื้นที่เมืองเมียวดีแล้ว นั่นบ่งบอกว่าสถานการณ์การสู้รบเพื่อแย่งยึดเมืองสำคัญของเมียนมาซึ่งอยู่ติดชายแดนอธิปไตยของไทยนั้นอยู่ในความสับสนที่วางใจไม่ได้

รัฐไทยจึงต้องประเมินและติดตามทุกสถานการณ์เพื่อให้รัฐไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติในดินแดนเมียนมาที่ไม่เฉพาะเมืองเมียวดีเท่านั้น แม้สถานการณ์ในเมียนมาจะมีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก หากแต่พื้นที่เมียนมาที่เชื่อมต่อกับไทยนั้นมีระยะทางที่ยาวมาก และสถานการณ์ในเมียนมาก็ไม่ได้สู้รบกันเฉพาะเมืองเมียวดี แต่การสู้รบระหว่างอำลังทหารของรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มต่อต้านนั้นมีอยู่ตลอดพื้นที่ชายแดน ประกอบกับผลกระทบจากการปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมาได้กระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาโดยรวม ทำให้ประชาชนตลอดจนนัดธุรกิจในเมียนมาต่างมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการเดินทางเคลื่อนย้ายมาทำมาหากินใหม่ที่ดีที่สุด ณ ห้วงเวลานี้ของพวกเขา

การประชุมด่วนเมื่อ 9 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล ระดับรัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีประเด็นสำคัญคือประเทศไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และพร้อมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมถึงการค้าชายแดน และเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบหลัก โดยมีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติทำงานร่วมด้วย โดยนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผลกระทบสืบเนื่องจากการรัฐประหารในเมียนมาจนกระทั่งสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มต่อต้านที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเป็นลำดับที่ไม่ใช่เฉพาะการดูแลตามหลักมนุษยธรรมต่อกรณีผู้บี้ภัยสงครามเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเมียนมาที่หลีกหนีภาวะไม่ปกติภายในประเทศนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 มีชาวเมียนมาจำนวนมากกว่า 13,000 ราย เดินทางเข้าประเทศไทยต่อเดือนอย่างถูกกฎหมาย เพื่อพำนักอยู่อาศัยระยะยาว โดยกลุ่มคนหลากหลายที่มุ่งอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศไทย ทั้งนักเรียน นักศึกษา ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับสูงของเมียนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ต่างแสวงหาลู่ทางในการหลีกหนีเข้าไทยอย่างจริงจัง รวมไปถึงกลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังหาโอกาสทำธุรกิจในเมืองไทยมากขึ้น

ที่สำคัญสถานการณ์ลักลอบเข้าเมืองไทยของมวลชนจำนวนมากจากเมียนมายังวิกฤติต่อเนื่อง เพียง 1 เดือนเฉพาะชายแดนกาญจนบุรีพบผู้ลักลอบเข้าเมืองข้ามพรมแดนผ่านช่องทางธรรมชาติกว่า 600 คน ปัจจัยหลักมาจากการสู้รบที่ยืดเยื้อ ประกอบกับการบังคับคนหนุ่มสาวเข้าเกณฑ์ทหารในประเทศเมียนมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความอัตคัดขัดสนในการดำรงชีพตลอดจนอนาคตอันมืดมนในเมียนมา ส่งผลต่อไทยในวงกว้างทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดจากคลื่นมนุษย์ชาวเมียนมาที่กำลังทะลักเข้าไทย ดังนั้นรัฐไทยต้องทำทุกวิถีทางให้พร้อมรับสถานการณ์ในเมียนมาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว