ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตมีช่วงมืดและสว่าง การเมืองก็เช่นกัน บางเวลานั้นก็มืดมิดเหมือนจะหาทางออกไม่ได้
ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา (หาอ่านย้อนหลังได้ในสยามรัฐออนไลน์) เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ท่านเกิด 20 เมษายน 2454 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ก็จะมีอายุได้ 113 ปีแล้ว ทว่าท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 อายุ 84 ปี) เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเมืองในเวลาปัจจุบัน ที่มีคุณทักษิณกำลังสร้าง “อภินิหาร” และตบท้ายด้วยคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ถามว่า “ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังอยู่ ท่านจะทำอย่างไรกับการเมืองไทยในขณะนี้” (ซึ่งคำตอบของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะขอนำมาเสนอในภายหลัง เพราะมีเนื้อความและรายละเอียดที่อยากจะเพิ่มเติมค่อนข้างมาก)
สำหรับท่านที่ไม่อยากไปหาอ่านและดูคลิปสัมภาษณ์ในสยามรัฐออนไลน์ ผู้เขียนก็ขอนำคำสัมภาษณ์บางส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่สนใจปัญหาบ้านเมือง มา “สปอยล์” ท่าน ๆ เหล่านี้สักเล็กน้อย เผื่อว่าจะมีบางท่านที่ใกล้ชิดกับบางคนในรัฐบาล เมื่ออ่านแล้วจะได้ไปกระซิบบอกแก่รัฐบาลและนักการเมืองทั้งหลายก็ได้ว่า “ควรจะหาทางออกให้กับประเทศไทยนี้อย่างไร?”
คำถามแรกถามว่า “คุณทักษิณกำลังทำอะไรกับการเมืองไทยในขณะนี้?”
ผู้เขียนตอบว่า “ทำ 3 อย่าง” อย่างแรก เพื่อตัวคุณทักษิณเอง เพื่อที่จะ “ล้างมลทิน” ลบภาพความเป็น “อดีตชั่ว” ของตัวเอง ที่เป็นนักโทษโกงกินบ้านเมือง อย่างต่อมา เพื่อครอบครัวของตัวเอง ที่บังอาจพูดออกมาว่าจะนำน้องสาว นางยิ่งลักษณ์ กลับประเทศไทยในเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งที่อาจจะดันลูกสาว คุณอุ๊งอิ๊ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อแสดงบารมีความยิ่งใหญ่ และอย่างที่สาม ก็เพื่อคุณทักษิณและตระกูลชินวัตรนั่นเอง คือคุณทักษิณอยากจะสร้างผลงานอีกสักอย่างในชีวิต เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ให้กับคุณทักษิณเองและตระกูลชินวัตร !
คำถามต่อมา “คุณทักษิณจะทำได้จริงหรือ แล้วถ้าทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?”
“คงยาก” ผู้เขียนให้เหตุผลว่า ประการแรก คุณทักษิณวันนี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน เพราะคุณทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอะไร แม้จะเชื่อกันว่าคุณทักษิณคุมพรรคเพื่อไทย และ “อำมาตย์” บางกลุ่ม แต่ก็ไม่มั่นคงแข็งแรงเหมือนในอดีต ประการที่สอง สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้เปลี่ยนไปจากสมัยที่คุณทักษิณยังเรืองอำนาจนั้นพอควร คนเสื้อแดงวันนี้บางกลุ่มก็ยังออกมาด่าคุณทักษิณ รวมถึงคู่ต่อสู้ของคุณทักษิณก็ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมเช่นในอดีต แต่เป็นคนรุ่นใหม่ มุ่งเสรีภาพ และต่อต้านเผด็จการ และคนอย่างคุณทักษิณก็เป็นเผด็จการชั่วร้ายอีกแบบหนึ่ง จึงไม่น่าจะอยู่ในกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ ประการสุดท้าย การเมืองในสภาทุกวันนี้ก็แตกต่างจากยุคที่คุณทักษิณเคยควบคุมได้ทุกอย่าง แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่เชื่อว่าคุณทักษิณจะกล้าเอาเงินส่วนตัวมาทุ่มเท รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้เคารพเกรงกลัวคุณทักษิณเหมือนแต่ก่อน จึงอาจจะเรียกได้ว่าแท้จริงแล้วคุณทักษิณกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ “เสื่อมบารมี” โดยแท้
ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลกำลังประสบความล้มเหลวในด้านการบริหาร โดยที่คุณทักษิณก็ช่วยอะไรไม่ได้ (เนื่องจากไม่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง และกำลังเสื่อมบารมีดังกล่าว) และยิ่งหากมีการเลือกตั้งใหม่(สมมุติว่ารัฐบาลไม่มีทางไปก็อาจจะยุบสภา) คุณทักษิณก็ไม่ใช่ตัวช่วย แต่น่าจะเป็นตัว...ซะมากกว่า เพราะคุณทักษิณจะกลายเป็นภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองทางนรก” มากกว่าที่จะพาไป “สวรรค์” นั่นก็จะทำให้ผู้ที่คิดจะไปลงคะแนนเลือกตั้งสามารถตัดสินใจได้โดยง่าย เพราะเมื่อคุณทักษิณโผล่หัวออกมาช่วยพรรคเพื่อไทย ทุกคนก็จะมองเห็นได้ชัดเจนและตัดสินใจได้ง่าย ๆ เลยว่า “เลือกพรรคเพื่อไทยมาทำ...อะไร?”
อีกเรื่องหนึ่งคือดิจิตอลวอลเล็ตก็จะไม่ได้ทำ เพราะทำไม่ได้ เนื่องจากถูกต่อต้านทุกทิศ และมีหลายคนที่จะฟ้องรัฐบาลถ้าทำนโยบายนี้ออกมาจริง ๆ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลกำลังหาทางลง “บางอย่าง” เช่น เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย หรือสภาเปิดฉากอภิปรายถล่มรัฐบาล รัฐบาลก็จะหาเรื่องยุบสภาไปเลยดังกล่าว รวมถึงอาจจะเกิดรัฐประหาร เพราะทหารที่รักชาติอาจจะเอามาเป็นข้ออ้างได้ว่า นี่กำลังพาประเทศชาติล่มจม เป็นนโยบายที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่าอภิมหาโคตรโกงต่าง ๆ ที่ผ่านมา หรืออาจจะมีความวุ่นวายจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม แต่รัฐบาลไม่ฟัง ทหารก็ออกมาช่วยจัดการตามคำเรียกร้องของสังคมนั้น
บางคนบอกว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะ “หน้ามืด” แต่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ตาบอด” ซึ่งฝรั่งเรียกวิกฤติชีวิตแบบนี้ว่า “The Darkest Hour” คือ “ช่วงเวลาที่มืดมิด” หรือถ้ามาใช้ในทางการเมืองก็อาจจะหมายถึง วิกฤติอันมืดบอดที่ยากจะหาทางออกหรือทางรอด เหมือนอย่างเช่นหนังฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งในชื่อ The Darkest Hour นี้แหละ ที่ผู้เขียนได้ดูทางช่องทีวีอินเตอร์เน็ตช่องหนึ่งเมื่อหลายวันก่อน หนังเรื่องนี้พูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ยุโรปกำลังพ่ายแพ้แก่เยอรมัน เหลือแต่ประเทศอังกฤษประเทศเดียว เพราะความที่เป็นเกาะและเยอรมันยังข้ามทะเลมาไม่ได้ แต่ที่สำคัญนั้นคือคนอังกฤษหยิ่งในเกียรติและภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตนเอง จึงยังคงฮึดสู้ไม่ยอมที่จะยอมจำนนแก่เยอรมัน ในขณะที่ในรัฐบาลก็มีความแตกแยกทางความคิดเห็น โดยพวกหนึ่งอยากขอเจรจาสงบศึกกับเยอรมัน แต่นายกรัฐมนตรีคือวินสตัน เชอร์ชิล ลังเลไม่อยากเจรจาเพราะจะเสียศักดิ์ศรี วิกฤติครั้งนั้นถึงขั้นที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระมหากษัตริย์ของอังกฤษในตอนนั้นถูกเสนอให้ “อพยพ” พร้อมพระบรมวงศานุวง์(ที่มีเจ้าหญิงอลิซาเบธ ผู้เป็นพระราชธิดาและพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมารวมอยู่ด้วย)ไปประทับที่ประเทศแคนาดาเพื่อหนีภัยสงคราม ช่วงเวลานั้นจึงเป็น The Darkest Hour ของคนอังกฤษทั้งชาติ
พระเจ้าจอร์จที่ 6 ต้องเสด็จไปบ้านนายกรัฐมนตรีกลางดึก(ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในภาวะปกติ) เพื่อจะถามเชอร์ชิลว่าจะให้พระองค์ทำอย่างไร แต่ความจริงนั้นพระองค์ก็อยากจะไปบอกทางออกให้กับเชอร์ชิลด้วย เชอร์ชิลตกใจมากที่พระมหากษัตริย์เสด็จมาถึงที่ห้องส่วนตัว(ซึ่งในฉากรกมากและไม่สวยงามเลย) แต่เมื่อทรงถามว่าจะเจรจาสงบศึกกับเยอรมันหรือไม่ เชอร์ชิลก็ลังเลเล็กน้อยก่อนที่จะตอบไปว่า “ไม่พะยะค่ะ” พระองค์จึงบอกว่าถ้าอยากจะให้มีความมั่นใจก็ขอให้เชอร์ชิล “จงไปถามประชาชน”
บ่ายวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่เชอร์ชิลจะต้องไปแถลงต่อสภาว่าจะเจรจาสงบศึกกับเยอรมันหรือไม่ ระหว่างทางรถติดมากเพราะฝนตก เชอร์ชิลเปิดประตูรถเก๋งกระโดดลงหน้าสถานีรถไฟใต้ดิน และได้ทักทายกับประชาชนหลายคนในตู้โดยสาร จึงถามเรื่อง “การคุกคามของเยอรมัน” ทุกคนบนรถตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ยอม ๆ ๆ ๆ” (Never, never, never ….) ซึ่งเชอร์ชิลก็เอาคำ ๆ นี้ไปตอบแก่สภา
ครับ ทางออกในระบอบประชาธิปไตยนั้นง่าย ๆ “จงไปถามประชาชน” (และเชื่อฟังพวกเขา !)