ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วทั้งโลกได้รับข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ถึงสองครั้งติดๆกัน ครั้งแรกที่ไต้หวันตามต่อด้วยญี่ปุ่นแบบติดๆ กัน แผ่นดินไหวถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงและสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ วันนี้เลยจะมาเล่าให้อ่านกันในเรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ...ในมิติภัยคุกคามด้านความมั่นคงครับ

ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่นอกเหนือจากภัยคุกคามรูปแบบดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามทางทหารได้ถูกจัดออกเป็นหลายกลุ่มตามแนวคิดของนักวิชาการหลายๆคน อาทิ Barry Buzan หนึ่งในปรมาจารย์ด้านความมั่นคงได้แบ่งความมั่นคงรูปแบบใหม่ออกเป็น 5 ด้านหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางสังคม สอดคล้องไปกับสภาวะของโลกภายหลังยุคสงครามเย็น นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศและนักวิชาการยังได้จำแนกภัยคุกคามตามระดับของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นต้น

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในบริบทของการศึกษาด้านความมั่นคง ก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความสำคัญ UNHCR ประเทศไทย ได้นิยาม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไว้ว่า “ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจควบคุมได้...เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ตลอดจนวิถีชีวิต...” โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1) ธรณีพิบัติภัย หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากพื้นดิน เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม เป็นต้น

2)อุทกภัย หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำ เช่น สึนามิ น้ำป่า น้ำท่วม เป็นต้น

3)วาตภัย หรือ ภัยพิบัติที่เกิดจากทางอากาศ เช่น พายุประเภทต่างๆ

4)อัคคีภัย หรือ ภัยพิบัติที่เกิดจากไฟ เช่น เพลิงไหม้ ไฟป่า (อาจเกิดจากมนุษย์ได้เช่นกัน)

นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งที่เป็นภัยธรรมชาติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายๆ มุมของโลก เช่น ในหลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกา

ความน่าสนใจของภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ประการที่หนึ่ง คือความ “ควบคุมไม่ได้” ของภัยชนิดนี้ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าภัยทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แม้เทคโนโลยีของมนุษย์จะพอคาดการณ์ได้บ้าง แต่เราก็ยังไม่สามารถควบคุม ทำให้เล็กลง หรือทำให้มีอันตรายน้อยลงได้ จนทำให้หลายต่อหลายครั้งยากเกินจะรับมือได้ ตัวอย่างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความ “ควบคุมไม่ได้” ของภัยชนิดนี้ ส่งผลให้เราทำได้ดีที่สุดคือการ “ตั้งรับ” โดยเฉพาะสำหรับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก (Ring of Fire)

ประการที่สอง คือความเชื่อมโยงกับภัยคุกคามอื่นๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่เชื่อมโยงกับหลายหลายมิติ ทั้งในแง่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบของมัน ยกตัวอย่างเช่น ในด้านการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดการผิดเพี้ยนทางธรรมชาติในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นหรือลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อลม ฝน และปัจจัยทางธรรมชาติอื่นๆ จนอาจก่อให้เกิดลมพายุที่มีความรุนแรง จะเห็นได้ว่า แม้ว่านิยามของภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่ได้เกิดจากมือมนุษย์โดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเกิดจากมือมนุษย์ในทางอ้อม

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ย่อมชัดเจนว่า สามารถมีผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงในระดับระหว่างประเทศได้ทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นต้นตอของปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ที่ตามมาอีกเป็นลูกโซ่ อาทิ การโยกย้ายถิ่นฐาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ความมั่นคงทางการเมือง หรืออาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เป็นได้

ประการสุดท้าย คือการที่หลายประเทศทั่วโลก ยังไม่ได้ลงทุนกับการเตรียมตัว “ตั้งรับ” มากเท่าที่ควร เพราะด้วยเป็นการลงทุนที่มหาศาล อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่จับต้องได้ยาก โดยเฉพาะในการได้มาซึ่งความชอบธรรมด้านงบประมาณ ซึ่งบ่อยครั้งก็มักถูกกลบรัศมีด้วยเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ เพราะการพัฒนาเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเปรียบได้กับการ “ซื้อประกันสุขภาพ” ที่ไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไร นั่นเอง

สุดท้าย เหลียวกลับมามองประเทศไทยของเรา อย่างที่กล่าวไปว่าการลงทุนกับเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเปรียบเสมือนการซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการพัฒนากองทัพให้มีอาวุธที่ทันสมัย สองสิ่งนี้ เปรียบได้กับการลงทุนเพื่อซื้อประกันสุขภาพให้กับประเทศ เป็นประกันสุขภาพสองฉบับที่จำเป็นต้องลงทุน แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากใช้งาน เพราะถ้าได้ใช้กลไกรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือได้ใช้กองทัพที่ทันสมัยเมื่อใด ก็หมายความได้ว่า ณ จุดนั้น เรากำลังประสบกับปัญหา

แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่อยากส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ได้มองสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญและกล้าลงทุนอย่างมีเหตุมีผล เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ปลอดภัยในหลายๆ มิติด้านความมั่นคง อาจจะยากเสียหน่อยตรงการใช้งบประมาณแต่ก็คิดว่าจำเป็นต้องลุย  คิดเสียว่าเป็นการซื้อประกัน ซื้อความปลอดภัยให้กับประชาชนครับ

ประกันมีไม่ควรได้ใช้ แต่จังหวะต้องใช้...ประกันต้องมี

เอวัง