เสือตัวที่ 6

แนวคิดพหุวัฒนธรรมเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับฐานคิดเอกนิยมที่ต้องการผสมกลมกลืนให้วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รากฐานทางความคิดเอกนิยมที่หวังจะกลืนกินวัฒนธรรมที่หลากหลายนั้นไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และสังคมพื้นที่ถิ่น แนวคิดใหม่ที่เรียกกันว่าพหุวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นคำตอบให้กับสถานการณ์ปัจจุบันของโลกและรวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดที่ชื่อว่าพหุนิยมเกิดขึ้น และความแตกต่างระหว่างพหุนิยมและพหุวัฒนธรรมมีในหลายมิติ ประเด็นหลักของความต่างอยู่ที่พหุนิยมยังให้พื้นที่หรือให้ความสำคัญของคนในระดับปัจเจก หากแต่พหุวัฒนธรรมมุ่งเน้นไปในเรื่องของกลุ่มมากกว่าปัจเจกบุคคล ด้วยความเชื่อในแนวคิดพื้นฐานที่ว่าปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความเห็นของกลุ่มมากกว่านั่นเอง โดยพื้นที่สาธารณะไม่ใช่พื้นที่ที่มีความเป็นกลางทางวัฒนธรรม หากแต่เป็นพื้นที่ในการต่อรองทางวัฒนธรรม และไม่ควรมีกลุ่มใดครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยการกีดกันกลุ่มวัฒนธรรมอื่นออกไป ในทางตรงข้ามแนวคิดพหุวัฒนธรรมจะให้โอกาสทางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละกลุ่มอย่างเท่าเทียม

นอกจากนั้น แนวคิดพหุวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยได้รับการสนับสนุนปัจเจกบุคคลนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซึ่งให้ความหมายแก่ชีวิตของพวกเขา และพหุวัฒนธรรมเป็นแนวทางในการสนับสนุนกลุ่มต่างๆ นั้นอย่างเสมอภาค และมีแนวทางการปฏิบัติคือการให้โอกาสผู้คนที่เชื่อในวัฒนธรรมของกันและกันอย่างเท่าเทียม คนแต่ละคนต่างมีอิสรภาพในการรวมกลุ่มวัฒนธรรมของกลุ่มตนรวมทั้งอิสรภาพในการเข้าสังกัดเป็นสมาชิกกลุ่มวัฒนธรรมที่ตนเชื่อถือ ทั้งยังต้องให้การยอมรับและเคารพทางวัฒนธรรมที่แตกต่างเหล่านั้นอย่างจริงใจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.สนับสนุนให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมด้วยการตระหนักถึงรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างของกลุ่มอื่น 2.สนับสนุนการเคารพในวัฒนธรรมด้วยการปกป้องอัตลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างเหล่านั้น และยอมรับรูปแบบของวัฒนธรรมที่แตกต่าง 3.ผู้คนทั้งหลายโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนควรได้รับข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของแต่ละกลุ่มวัฒนธรรม เช่นในเรื่องของการได้เปรียบ เสียเปรียบ การครอบงำ และการลดทอนคุณค่าทางวัฒนธรรมของผู้อื่น เป็นต้น

โดยพหุวัฒนธรรมที่แท้จริงนั้น ควรให้การเรียนรู้ในประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างเพื่อหวังจะทำการล้างสมองหรือบ่มเพาะให้เชื่อมั่นในวัฒนธรรมของกลุ่มตนโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันก็มุ่งให้เกิดการรังเกียจหรือกดทับวัฒนธรรมที่แตกต่างอันเป็นการแบ่งแยกผู้คนในสังคมให้ถอยห่างจนถึงขั้นเกลียดชังคนต่างวัฒนธรรมอย่างรุนแรงอย่างที่กลุ่มขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐกระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งเป็นที่มาของความเห็นต่างระหว่างพี่น้องคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนต่างพื้นที่และต่างวัฒนธรรมอย่างสุดโต่ง

ด้วยแนวคิดพหุวัฒนธรรมที่แท้นั้น ต้องยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) ความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้รับการยอมรับในพื้นที่วัฒนธรรมที่แตกต่างจากกันโดยไม่กีดกันวัฒนธรรมที่แตกต่างเหล่านั้น โดยเฉพาะการหล่อหลอมให้เกิดแนวคิดที่นำวัฒนธรรมหนึ่งไปกดทับศักดิ์ศรีและความศรัทธาของอีกวัฒนธรรมหนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นกำลังถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ ในขณะที่แนวคิดพหุวัฒนธรรมนี้ที่กำลังถูกหยิบยกเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานจะเรียกร้องให้มีการยอมรับและเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่าง แม้กระทั่งในทางการศึกษาพหุวัฒนธรรมก็ยังเน้นย้ำให้มีการสนับสนุนการยอมรับและเคารพตลอดจนการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมได้รับข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ใช้การศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปใช้เฉพาะการสร้างบาดแผลในอดีตมาสร้างรอยร้าวในหัวใจผู้คนในปัจจุบันอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น ร่วมกับการนำสู่วัฒนธรรมของกลุ่มตนที่สร้างให้เหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่งเพื่อมุ่งขับไล่คนกลุ่มต่างวัฒนธรรมให้ออกห่างจากกลุ่มตนอันจะเป็นการแบ่งแยกการปกครองของตนให้เป็นอิสระจากการปกครองของรัฐไทยโดยรวมในที่สุด

ด้วยแนวคิดการเจรจาสันติภาพเพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และ ผอ.ศูนย์สันติวิธี กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ภายใต้แผนรอมฎอนสันติสุขและส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้แถลงแผนไว้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี เจ้าหน้าที่จะปรับลดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หากไม่จำเป็นจะไม่บังคับใช้ สำหรับด่านตรวจในพื้นที่ปรับลด ปรับเปลี่ยนช่วงเวลา และความจำเป็นในการตั้งด่านตรวจ เพื่ออำนวยสะดวกต่อการสัญจรแก่ประชาชน และปรับลดป้ายประกาศหมายจับให้เหมาะสม รวมทั้งการสนองตอบแนวทางของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเดินหน้าตามความเห็นร่วมระหว่างคณะพูดคุยของรัฐกับผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยหลักการตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) และภายใต้แผนรอมฎอนสันติสุขและส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมนั้นก็เกิดการแสวงหาการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐของขบวนการร้ายในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ที่กำลังแสวงประโยชน์จากแนวคิดพหุวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนโดยคณะเจรจาสันติสุขฝ่ายรัฐอย่างเข้มข้น หากแต่รัฐเองจะต้องตระหนักรู้ในความหมายที่แท้ของแนวคิดพหุวัฒนธรรมอันสวยงามตามที่กล่าวมาข้างต้นอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐเหล่านั้นบิดเบือนแนวคิดพหุวัฒนธรรมให้เอื้อประโยชน์ต่อขบวนการแบ่งแยกการปครองจากรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว