รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการสำรวจดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมีนาคม 2567 ครั้งที่ 3 โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,254 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ภายใต้ตัวชี้วัดดัชนีการเมืองไทย 25 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) ผลงานของฝ่ายค้าน 2) ผลงานของนายกรัฐมนตรี 3) การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม 4) การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 5) การมีส่วนร่วมของประชาชน 6) ความมั่นคงของประเทศ 7) ผลงานของรัฐบาล 8) สภาพสังคมโดยรวม 9) การแก้ปัญหาต่างๆ ในภาพรวม 10) เสถียรภาพทางการเมือง 11) การปฏิบัติตนและพฤติกรรมของนักการเมือง 12) สิทธิและเสรีภาพของประชาชน 13) การพัฒนาด้านการศึกษาสำหรับประชาชน 14) การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 15) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ 16) กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม 17) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 18) ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 19) สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม 20) การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความโปร่งใส 21) การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล 22) การแก้ปัญหาการว่างงาน 23) ค่าครองชีพ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ 24) ราคาสินค้า และ 25) การแก้ปัญหาความยากจน
ผลการสำรวจพบว่า ภาพรวมคะแนนเฉลี่ยดัชนีการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาลดลงเล็กน้อย คือ เดือนมีนาคมล่าสุดได้คะแนนเฉลี่ย 5.10 ลดลง 0.06 โดยมี 6 ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยระหว่าง 0.02 ถึง 0.04 คะแนน ได้แก่ ตัวชี้วัด: ผลงานของฝ่ายค้าน คะแนนเฉลี่ย 5.56 เพิ่มขึ้น 0.04 ตัวชี้วัด: ผลงานของนายกรัฐมนตรี คะแนนเฉลี่ย 5.45 เพิ่มขึ้น 0.02 ตัวชี้วัด: ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คะแนนเฉลี่ย 5.07 เพิ่มขึ้น 0.04 ตัวชี้วัด: การแก้ปัญหา ยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล คะแนนเฉลี่ย 4.97 เพิ่มขึ้น 0.03 ตัวชี้วัด: การแก้ปัญหาการว่างงาน คะแนนเฉลี่ย 4.91 เพิ่มขึ้น 0.04 และ ตัวชี้วัด: การแก้ปัญหาความยากจน คะแนนเฉลี่ย 4.80 เพิ่มขึ้น 0.02
ส่วนตัวชี้วัดที่เหลือ 19 ตัวได้คะแนนเฉลี่ยลดลงระหว่าง 0.03 ถึง 0.19 ประกอบด้วย ตัวชี้วัด: การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม ตัวชี้วัด: การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ ตัวชี้วัด: การมีส่วนร่วมของประชาชน ตัวชี้วัด: ความมั่นคงของประเทศ ตัวชี้วัด: ผลงานของรัฐบาล ตัวชี้วัด: สภาพสังคมโดยรวม ตัวชี้วัด: การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในภาพรวม ตัวชี้วัด: เสถียรภาพทางการเมือง ตัวชี้วัด: การปฏิบัติตนและพฤติกรรมของนักการเมือง ตัวชี้วัด: สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตัวชี้วัด: การพัฒนาด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ตัวชี้วัด: การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตัวชี้วัด: การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ตัวชี้วัด: กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ตัวชี้วัด: ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวชี้วัด: สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม ตัวชี้วัด: การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความโปร่งใส ตัวชี้วัด: ค่าครองชีพ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ ตัวชี้วัด: ราคาสินค้า
สำหรับตัวชี้วัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยลดลงมากที่สุด 3 อันดับ คือ ตัวชี้วัด: เสถียรภาพทางการเมือง (-0.19) ตัวชี้วัด: สิทธิและเสรีภาพของประชาชน (-0.16) และตัวชี้วัด: ความมั่นคงของประเทศ (-0.15) ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยลดลงน้อยที่สุด 3 อันดับ คือ ตัวชี้วัด: ผลงานของรัฐบาล (-0.03) ตัวชี้วัด: ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (-0.03) และตัวชี้วัด: การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ (-0.04)
ประเด็น “ประชาชนคิดว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นในเดือนมีนาคม 2567” ปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ร้อยละ 53.22 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 28.30 และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 18.48 ส่วนนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นในเดือนมีนาคม 2567 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 59.32 นายรังสิมันต์ โรม ร้อยละ 20.91 และนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ร้อยละ 19.77 หากมองในภาพรวมเป็นรายบุคคลไม่มองพรรคการเมืองที่สังกัดแล้วนักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่น 3 คนแรกคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (59.32) นายเศรษฐา ทวีสิน (53.22) และนายอนุทิน ชาญวีรกูล (28.30)
ประเด็น ผลงานของ “ฝ่ายรัฐบาล” ที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนมีนาคม 2567 คือ สงกรานต์ 21 วัน ดัน Soft Power ร้อยละ 47.51 จับบ่อน ปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 30.94 และย้าย 2 บิ๊กตำรวจ ร้อยละ 21.55 ผลงานของ “ฝ่ายค้าน” ที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนมีนาคม 2567 คือ อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 ร้อยละ 48.36 กระตุ้นเรื่องแก้ฝุ่น PM2.5 ดับไฟป่า ร้อยละ 31.75 และผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ร้อยละ 19.89 ส่วนปัญหาที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข ได้แก่ ยาบ้า กัญชา ยาเสพติด ร้อยละ 50.62 เศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ ร้อยละ 31.78 และฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ ร้อยละ 17.60
การสำรวจดัชนีการเมืองไทยเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสะท้อนภาพว่าการเมืองไทยประสบผลความสำเร็จอยู่ในระดับใด การเมืองไทยมีจุดใดอีกบ้างที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น และทันสมัยเข้ากับบริบทโลก ตลอดจนได้รับรู้ว่าการบริหารประเทศนั้นมีจุดใดอีกบ้างที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายและความคาดหวังของประชาชน นี่คือ... ภาพสะท้อน การเมืองไทยที่ชัดเจนมากที่สุดในสายตาประชาชน ครับ...