ช่วง 3 เดือนแรกที่เด็กเกิดมานั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญทั้งกับแม่และลูก เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งพักฟื้นร่างกายหลังคลอด โดยเฉพาะการงดกิจกรรมหนักๆ และการปรับสรีระให้กลับสภาพเดิม ที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) และร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จำนวน 2 ฉบับ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ จำนวน 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ เพื่อกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษตามความเหมาะสมและความจำเป็นของกิจการ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดดังกล่าวด้วย และกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 98 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับแรงงานภาคเอกชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (เฉพาะผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง) เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้เห็นชอบในหลักการของร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ดังกล่าวด้วยแล้ว
กำหนดให้ร่างประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และกำหนดให้การเข้ารับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2565 และการรักษาพยาบาลยังไม่สิ้นสุดลง ให้ได้รับสิทธิตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (ประกาศเดิม) ต่อไปจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล