ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

“ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นหนึ่งในมิติความมั่นคงสมัยใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในวงการวิชาการทั่วโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจบนหน้าสื่อรวมถึงประชาชนทั่วไปสักเท่าไร สัปดาห์นี้ผมจะมาเล่าให้อ่านกันครับ ว่าความมั่นคงทางอาหารนั้น คืออะไร? และมีความน่าสนใจอย่างไร? ถ้าพร้อมแล้ว ลุยครับ!

เริ่มจาก ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร ?

จากรายงานของ United Nations Development Programme (UNDP) ได้บรรจุความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) โดยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิด “ความมั่นคงของมนุษย์” หรือเกิด “สภาวะที่ปราศจากความกลัวและความต้องการ” (Freedom from wants & Freedom from fear) นั่นเอง โดยความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ทุกเวลา ทั้งมิติด้านกายภาพและด้านเศรษฐกิจ

ในส่วนของ Food and Agriculture Organization of The United Nations (FAO) และ World Food Programme (WFP) ได้นิยามความมั่นคงทางอาหารผ่านองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ การผลิตอาหารได้ภายในประเทศ (Food Availability), การเข้าถึงอาหาร (Food Accessibility), การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilisation), การมีอาหารในช่วงเวลาวิกฤต (Food Stability) เป็นต้น

ในปัจจุบัน โลกกำลังประสบกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นทุกปี รายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ปี 2023 มีผู้ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.5 เท่าของปี 2016 และคาดการณ์ว่า หากไม่มีการทำอะไรสักอย่าง ทั่วโลกน่าจะมีผู้ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารราวๆ 950 ล้านคน ในปี 2030 ที่จะถึงนี้ โดยมีสาเหตุมาจากหลายประการ อาทิ สงครามและความขัดแย้ง ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถสรุปได้ออกเป็นสองหัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่ ปัญหาในการซื้ออาหาร และ ปัญหาในการผลิตอาหาร นั่นเอง

Food and Agriculture Orgaisation of The United Nations (FAO) และ World Food Programme (WFP) ได้มีการเก็บข้อมูลประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงการจัดกลุ่ม และจัดลำดับความรุนแรงของปัญหา โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

ระดับ 1 ไม่มีหรือมีน้อย (None/Minimal) คือสภาพการณ์ที่ครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารและความต้องการอื่นๆที่ไม่ใช่อาหาร โดยไม่ต้องประสบกับความไม่ยั่งยืนในการเข้าถึงอาหารหรือรายได้

ระดับ 2 ตึงเครียด (Stressed) คือสภาพการณ์ที่ครัวเรือนมีความต้องการบริโภคอาหารในระดับที่ไม่มาก แต่ก็ยังมีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าจำเป็นที่ไม่ใช่อาหารโดยไม่ต้องพึ่งพายุทธศาสตร์การจัดการความตึงเครียด (Stress-coping strategies)

ระดับ 3 วิกฤติ (Crisis) คือสภาพการณ์ที่ครัวเรือนมีปัญหาในการบริโภคอาหารจนอยู่ในสภาพที่มีการขาดสารอาหารในระดับสูงหรือระดับสูงกว่าปกติ หรือ ครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอในระดับต่ำสุด แต่จำเป็นต้องเสียสละทรัพย์สินสำคัญในการดำรงชีวิตหรือจำเป็นต้องพึ่งพายุทธศาสตร์การจัดการความตึงเครียด (Stress-coping strategies)

ระดับ 4 ฉุกเฉิน (Emergency) คือสภาพการณ์ที่บางครัวเรือน มีช่องว่างระหว่างอาหารและการบริโภคอาหารขนาดใหญ่จนอยู่ในสภาพที่ขาดอาหารในระดับสูงหรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิต หรือ บางครัวเรือนอาจสามารถลดช่องว่างระหว่างอาหารและการบริโภคอาหาร แต่ก็ด้วยเพราะการใช้ยุทธศาสตร์ระดับฉุกเฉิน หรือการขายทรัพย์สิน

ระดับ 5 ทุพภิกขภัย (Catastrophe/Famine) คือสภาพการณ์ที่ครัวเรือนขาดแคลนอาหารและสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างหนักแม้ว่าจะมีการใช้ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขทุกด้านแล้ว เกิดความหิวโหย การเสียชีวิต และการขาดสารอาหารอย่างหนัก เช่น บูร์กินาฟาโซ มาลี และ ซูดานใต้ เป็นต้น

โดยในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าข่ายระดับ 4 และ 5 หลายประเทศ อาทิ อัฟกานิสถาน คองโก เอธิโอเปีย เฮติ โซมาเลีย บูร์กินาฟาโซ มาลี ซูดานใต้ และอื่นๆอีกมากมาย จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบแอฟริกา และเป็นประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาทั้งด้านการเมือง ความขัดแย้ง เศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แทบทั้งสิ้น

ในมิติของผลกระทบ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารอาจนำไปสู่ทั้งปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงแหล่งอาหาร ปัญหาการเสียชีวิตของเด็ก ปัญหาสุขภาพ ปัญหาโรคระบาด ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานโดยผิดกฎหมาย ไปจนถึงปัญหาการค้ามนุษย์ และอื่นๆได้เช่นกัน เรียกได้ว่า เป็นลูกโซ่ที่ต่อสายได้ยาวไม่น้อยเลยทีเดียว

ประเทศไทยของเราเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก แม้จะไม่มีปัญหาในด้านการผลิต แต่ก็ยังมีผู้คนบางส่วนที่ยังมีปัญหากับรายได้ในการหาซื้ออาหารอยู่บ้างแต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนประเทศในแอฟริกา ในมิตินี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ มองดีๆแล้ว นี่อาจเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ไทยจะได้กลายเป็น “ผู้ให้” ในสถานการณ์ที่เพื่อนมนุษย์หลายล้านคนกำลังลำบาก ก็น่าจะดีกับการเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลกไม่น้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวางยุทธศาสตร์และดำเนินการกันต่อไปอย่างไร...เอวัง