ทีมข่าวคิดลึก
ในระหว่างที่รัฐบาล ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กำลังสาละวนอยู่กับการหาทางเร่งแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำ ทั้งการออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาช่วยคลี่คลาย ไปจนถึงการส่งเจ้าหน้าที่จากภาครัฐลงไปตรวจสอบโรงสีตามต่างจังหวัดทั่วประเทศเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบชาวนาอยู่นั้น พบว่าในอีกด้านหนึ่งการเคลื่อนไหวของ "แม่น้ำ" สายที่ชื่อว่า "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ กรธ.เองกำลังขะมักเขม้นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลักกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ประเด็นและสาระต่างๆ ที่ได้มีการโยนหินลงมาถามทางจากสมาชิกแม่น้ำสายต่างๆ ล้วนแล้วแต่น่าสนใจและไม่อาจละสายตาเป็นอย่างยิ่งเพราะดูเหมือนว่า หลากหลายเงื่อนปมที่ได้มีการเสนอสู่สาธารณะนั้น กำลังสะท้อนให้ถึง "ด่าน" ที่ได้มีการตั้งขึ้นมาเพื่อ "สกรีน" และ "สกัด" เลือกเฟ้น"นักการเมือง" กันตั้งแต่ต้นมือเลยทีเดียว
ตามกรอบการทำงานที่ "มีชัยฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ. ได้แจงต่อสื่อมวลชน ระบุว่า กรธ.จะได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อรับฟังความเห็นประกอบการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสร็จกลางเดือน พ.ย.ส่วนในเวลานี้ กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ทั้งนี้ประเด็นที่นักการเมืองกำลังเฝ้ามอง คือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสมาชิก และคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
ประเด็นที่มีชัย ระบุเอาไว้มีความชัดเจน ว่า " กรธ.คือ ทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต้องตรงไปตรงมา เป็นที่พึ่งของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้คนทุจริตการเลือกตั้งไม่มามีส่วนกับพรรค โดยอาศัยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาบางเรื่อง
อย่างการจ่ายเงินให้หัวหน้าพรรคแลกตำแหน่งรัฐมนตรี ก็จะกำหนดโทษให้แรงถึงประหารชีวิตทางการเมือง ถือเป็นการซื้อขายตำแหน่ง จะวางโทษประหารสำหรับคนเรียกเงิน ส่วนคนจ่ายให้มีโทษแรง โดยมอบให้ กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบ ประชาชนสามารถฟ้องกกต.ได้ นอกจากนี้จะเขียนไว้ในกฎหมายป.ป.ช.ด้วย ถ้าปิดกันได้ก็ปิดไป แต่อย่าให้หลุดออกมา"
งานนี้ มีชัย จะยืนยันกับสื่อว่า กรธ.ไม่ได้เขียนเจาะจงใคร เราเห็นว่า ถ้าใครทำผิดก็ต้องโดนลงโทษ นั่นยิ่งเสมือนเป็นการตอกย้ำและทำให้นักการเมืองเกิดความหวั่นไหว ขวัญผวาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไปตามๆ กัน
ทั้งนี้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปที่ คสช.วางเอาไว้หรือไม่ก็ตามแต่สิ่งที่นักการเมืองกำลังมองเห็นและรับรู้มาโดยตลอด คือการเผชิญหน้ากับ"ปฏิบัติการลดทอนกำลัง" ของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยเอง
ยิ่งเมื่อนานวัน พรรคการเมืองทั้งที่มีอยู่เดิม ไม่เพียงแต่จะอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมใดๆ ทางการเมืองได้ตามคำสั่งของ คสช. ขณะเดียวกัน "บทบาท" ของ คสช. และบิ๊กตู่ ยังอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า "กุมสภาพอยู่"แม้เวลานี้จะเจอกับมรสุมราคาข้าว แต่แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้น "ซวนเซ" ตามที่"ฝ่ายตรงข้าม" ต้องการเห็น
ขณะที่พรรคการเมืองเอง ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า เมื่อวันที่สนามเลือกตั้งเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วนักการเมืองเหล่านี้จะเหลือ "พลัง" ในการต่อสู้อีกสักเท่าใด !?