นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2566 กว่า 6 เดือนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้ามาบริหารประเทศ หลังการแถลงนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมือต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภาจะอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 และก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
สถานการณ์ที่ผ่านมา ของรัฐบาลเศรษฐา มีเดิมพันสูงทั้งปัจจัยภายนอก และภายใน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่มาจากภาคเอกชน ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความคาดหวังในการปลุกเศรษฐกิจไทยให้โชติช่วงชัชววาลย์ บริหารความคาดหวังของประชาชน ตามมอตโตที่ว่า “นายกฯเศรษฐา ประชาชนจะเป็นเศรษฐี”
ขณะที่สถานะทางการเมืองถูกท้าทายและแรงเสียดทานมาตลอด ถึงอำนาจในการบริหารประเทศ ที่ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวเขาเพียงคนเดียว หรือที่ถูกสบประมาทเรื่องของการมีนายกรัฐมนตรี 2 คน หรือ 3 คน โดยเฉพาะภาพการลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาเดียวกันกับนายเศรษฐา
กระนั้น ที่น่าสนใจกรณีล่าสุด ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกันนายทักษิณ และนายเศรษฐา เพื่อติดตามปัญหาไฟป่า ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูก “แย่งซีนทางการเมือง”
แต่นายเศรษฐา กลับให้ความเห็นว่า “ผมมองในลักษณะที่น้ำไม่เต็มแก้ว ผมมองอย่างบวกนะครับ ผมคิดว่าอย่างที่ท่านบอกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ช่วยกันดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าที่ลงพื้นที่วันเดียวกัน ก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือไป เพราะคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชน หากนายพิธาไปเจออะไรมา แล้วรัฐบาลยังทำไม่ดีก็บอกมา ซึ่งผมก็ยืนยันเหมือนกับกรณีอดีตนายกฯท่านอื่น แนะนำอะไรมาผมก็ฟัง อะไรทำได้เราก็จะทำ”
จากประโยคคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่านายเศรษฐา ปรับตัวในการให้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน หรือสาธารณะได้ดีขึ้น จากแรกเข้ามาบริหาประเทศ เคยเกิดปัญหา “ปากไว” จนเกือบจะสร้างวิกฤติให้ตนเอง แต่หลังผ่านไป 6 เดือน นายเศรษฐาปรับตัวดีขึ้น วุฒิภาวะทางการเมืองสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเรื่องของผลงานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง