ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐอเมริกา ดูออกจะพลิกโผที่ชาวอเมริกันคาดหวัง ส่งผลให้ตลาดหุ้นกระเทือนหนัก เพราะวิตกกังวลการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจของอเมริกาที่อาจกระทบกันไปทั้งโลก ก็อาจจะเดากันไปต่างๆนาๆ ส่วนประเทศไทยกำลังรอคอยและจับตาดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า จะมีการพลิกโผเช่นเดียวกับอเมริกาหรือไม่คงเดาไม่ถูก แต่เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง คงส่งผลให้ได้คนดีมาบริหารแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชารติรองรับระยะ 5 ปี ถึง 4 แผนติดต่อกัน เรื่องที่น่าจะต้องนำมาเป็นโจทย์ก็คือปัญหาปากท้องและการทำมาหากินของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาที่มีปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ขาดทุน หากขายให้กับโรงสีในช่วงนี้ เพราะต้นทุนตันละประมาณ 4,500 – 5,000 บาทอยู่แล้ว โดยมีค่าปุ๋ยและสารเคมีเป็นต้นทุนเสียครึ่งหนึ่งขายได้ราคาตันละ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น การแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงนี้ทุกภาคส่วนต่างให้เกษตรกรนำข้าวสารมาขายเองให้แก่ประชาชนในราคาตลาด ประชาชนต่างมาอุดหนุนช่วยเหลือชาวนากันคับคั่ง พอจะช่วยประทังความเดือดร้อนไปได้บ้าง ส่วนรัฐบาลก็ได้ประกันราคาโดยจำนำยุ้งฉางในราคาตันละ 10,000 – 13,000 บาท ตามคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อให้ชาวนาชะลอขายให้แก่โรงสีที่รับซื้อราคาต่ำจนขาดทุน ฟังการแก้โจทย์ของชาวนาจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ทำยากและไม่ยั่งยืน เช่นอ้างว่า ข้าวล้นตลาดโลก เพราะอินเดียกับเวียดนามมีผลผลิตมากไม่น้อยกว่าไทยสักเท่าใด ราคาขายของทั้ง 2 ประเทศต่ำกว่าข้าวไทย เพราะต้นทุนเขาต่ำกว่าและผลผลิตต่อไร่สูงกว่า เช่น ไทยได้ผลผลิต 400 กก. ต่อไร่ อินเดีย 550 กก. ส่วนเวียดนามได้ถึง 820 กก.ต่อไร่ ต้นทุนจึงต่ำกว่าไทยถึงเท่าตัว ชาวนาควรลดการปลูกข้าวลงไป หันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน หรือให้ลดจำนวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวลงจะทำให้รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึน เป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ต้องใช้หลักวิชาการที่เป็นมาตรการแบบยั่งยืนให้แก่ชาวนาเลย ผมก็คิดแบบชาวบ้านอาจไม่ใช่หลักวิชาการด้านการเกษตร แต่ยุทธศาสตร์ชาติ ต้องการให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตรให้ได้มูลค่าสูงขึ้น โดยการแปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อื่นมิใช่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มูลค่าตกต่ำ ซึ่งอาจมีวิธีคิดได้หลากหลาย เช่น - กระทรวงเกษตร น่าจะวิจัยพันธ์ข้าวดี มีคุณภาพให้ชาวนาปลูกตามพื้นที่ๆเหมาะสม ภูมิภาคใดปลูกข้าวไม่ได้ดี ควรส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีราคาแทนตามแผนโซนนิ่ง - กระทรวงเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ช่วยวิจัยสร้างนวัตกรรมจากข้าวเปลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น โดยการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เช่น อาหารเสริม ขนม ยา หรือเครื่องสำอางค์ เป็นต้น ให้ชุมชนเขาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ - ธกส. กับ กองทุนหมู่บ้านน่าจะบูรณาการงบประมาณ แทนที่จะส่งเงินเป็นกองทุนหมู่บ้านที่สูญเปล่า และสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ให้ชุมชนเขาเอาเงินไปสร้างโรงสีข้าว บรรจุข้าวสารกันเองแบบวิสาหกิจชุมชนแล้วส่งขายหรือขายเองในราคาข้าวหอมมะลิ 35-40 บาท/ กก. หรือ 70-80 บาท/ กก. สำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือ ข้าวอินทรีย์ชีวภาพ - ลดโควต้านำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีจากผู้นำเข้าที่จำกัดเพียง 4-5 ราย แล้วส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์แทน โดยให้มหาวิทยาลัยวิจัยพวกจุลินทรีย์รักษาสภาพดินแล้วแจกจ่ายให้เกษตรกร หรือ เกษตรกรรวมกลุ่มขายกันเอง เพราะการโฆษณาชวนเชื่อว่าปุ๋ยดี มีคุณภาพ แต่เป็นเคมีทำลายดินและปนเปื้อน ซึ่งควรห้ามโฆษณาให้ชาวนาหลงผิดยิ่งดี - รัฐบาลเคยกำหนดให้ปลูกข้าวอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ปัจจุบันทำได้ไม่กี่แสนไร่ เหตุไฉนจึงไม่ดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ ให้ครบ โดยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตจากสารเคมี 2,500 บาท หากให้เหลือสักครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก และหากยิ่งเชิญชวนชาวนาสละคันนาให้เป็นที่ดินแปลงใหญ่ๆ จะลดต้นทุนการไถ การปลูก และการเก็บเกี่ยวได้อีกมาก มาตรการฟื้นฟูข้าวไทย ควรเริ่มต้นอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะฐานรากที่สำคัญของเราคือเกษตรกรรม หากแก้ปัญหาข้าวไทยไม่ได้ อย่าหวังว่าจะพัฒนาชาติไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 เลย เพราะเกษตรกรคือพื้นฐานหลักของประเทศที่จะต้องพัฒนาให้เป็น 4.0 ก่อนใครเพื่อน