ในตอนที่แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงประเพณีที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ในยุคแรกเริ่ม ที่ยกฐานะพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในระดับพระผู้เป็นเจ้า ถึงขนาดที่คนธรรมดาจะแตะต้องพระวรกายโดยไม่มีความจำเป็นใดๆไม่ได้ มาถึงตอนที่ตั้งปัญหาถามว่า ประเพณีเหล่านั้นทำขึ้นโดยอ้างเหตุใด? ต่อไปนี้ จะเป็นคำตอบ และเป็นเนื้อความในปาฐกถา ที่ดำเนินต่อไปดังนี้ ถามว่า เพราะเหตุอะไร? คำตอบก็คือ เพราะคนโบราณถือว่าพระเป็นเจ้านั้นมีรัศมี มีความร้อนที่ออกมาได้จากกายของพระองค์ ฉะนั้นประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นเสมือนเครื่องกันความร้อน ไม่ให้ความร้อนนั้นเกิดขึ้นมาเป็นอันตรายต่อคนได้ เช่นการห้ามมองพระองค์ หรือไม่ให้มองพระพักตร์ ก็เหมือนกับการที่คนจะจ้องมองพระอาทิตย์ ถ้ามองเพ่งนานๆแล้วจะตาบอดไม่รู้ตัว การห้ามพระบาทแตะต้องพื้นดิน ก็เพราะความร้อนจะทำให้พื้นดินเกิดความแห้งแล้ง พระมหากษัตริย์จึงต้องทรงพระราชดำเนินไปตามลาดพระบาท หรือมิฉะนั้นก็จะต้องทรงฉลองพระบาทเสีย จะเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทเปล่าไม่ได้เป็นอันขาด แม้แต่เส้นพระเจ้า(ผม)หรือพระนขา(เล็บ)ก็จะต้องระมัดระวังมิให้ตกถึงแผ่นดิน เพราะถ้าตกถึงแผ่นดินแล้วจะเกิดความแห้งแล้ง เป็นภัยแก่เกษตรกรรม หรือประชาชนทั่วไปที่จะต้องใช้แผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ความเชื่อถือเหล่านี้ผสมผสานอยู่ในหลักของการปกครองประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทุกอย่างที่ทางราชการทำไปในทางปกครองแผ่นดิน จะต้องถือว่าเป็นโองการ หรือคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าทั้งนั้น ทุกอย่างถ้าออกมาเป็นพระราชโองการแล้ว ทุกคนต้องนับถือ ผู้ใดจะขัดขืนมิได้เป็นอันขาด แม้ในพิธีพระบรมราชาภิเษก ที่ทุกวันนี้ก็ยังยึดถือปฏิบัติกันอยู่ ลัทธิธรรมเนียมนี้ก็ยังมีอยู่มิได้เลิกไป กล่าวคือในการทำพิธี พราหมณ์ผู้ทำพิธี จะมีการเชิญเสด็จพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ของศาสนาฮินดู มาประทับอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์ แล้วก็มีการร่ายพระเวทถวายให้ทรงเป็นพระเป็นเจ้า ณ ที่นั้นด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้การกระทำเหล่านี้ ยังมีอยู่ จึงกล่าวได้ว่า การปกครองประเทศในสมัยก่อน นับตั้งแต่อยุธยาลงมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ‘อำนาจบริหาร’ทั้งหมดจะอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ผู้ที่ทำหน้าที่ในงานบริหารตำแหน่งต่างๆจะมีกรอบงานของตน ที่เป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ อันเป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสำคัญ ส่วน ‘อำนาจตุลาการ’นั้น ในความเห็นของผม ผมเห็นว่าอยู่กับพราหมณ์มากกว่า เพราะเท่าที่พิจารณาจากเอกสารประวัติศาสตร์ พราหมณ์ดูจะมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่ในหน้าที่ตระลาการในศาลต่างๆเช่นในศาลหลวง ศาลลูกขุน ซึ่งต่อมายังแยกออกไปถึงศาลนครบาล ศาลมหาดไทย ก็จะเห็นพราหมณ์เข้าไปมีชื่อปรากฏอยู่มาก ผมคิดว่าพระมหากษัตริย์จะมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องในงานตุลาการมากนัก เพราะงานเหล่านี้ค่อนข้างจะมีปัญหาและรายละเอียดมาก อีกทั้งกระบวนการบางอย่างก็ค่อนข้างสับสนยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจ เห็นได้ตั้งแต่เมื่อเกิดคดีแล้ว ก็ยังต้องพิจารณาว่าจะฟ้องที่ศาลไหน จนทางราชการต้องตั้งกรมขึ้นมาอีกกรมหนึ่ง เรียกว่ากรมรับฟ้อง ใครอยากจะฟ้องใครด้วยเรื่องอะไรต้องไปที่กรมนี้ก่อน แล้วกรมนั้นก็จะบอกว่าต้องไปที่ศาลไหน การใช้อำนาจตุลาการขององค์พระมหากษัตริย์จึงเป็นพระราชอำนาจที่ค่อนข้างจะใช้น้อย งานส่วนใหญ่จึงต้องขึ้นกับลูกขุนหรือผู้พิพากษาตระลาการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีพราหมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผมจึงเห็นว่าอำนาจตุลาการนั้นแม้จะอยู่ในพระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้น้อยมากไม่เหมือนอำนาจบริหาร ซึ่งจะต้องทรงเกี่ยวข้องและสนพระราชหฤทัยอยู่ทุกวัน ทีนี้ก็มาถึง ‘อำนาจนิติบัญญัติ’ ใครจะเห็นด้วยกับผมบ้างไหมว่า พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาลงมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอยุธยาตลอดสมัยนั้น พระมหากษัตริย์ไทยมิได้ใช้พระราชอำนาจในทางนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมายใดๆเลย เพราะแม้แต่กฎหมายที่ใช้ ที่เรียกกันว่าบทพระอัยการ ก็เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ จนพูดกันว่ากำเนิดมาจากนอกฟ้าป่าหิมพานต์ ซึ่งได้ใช้และยึดถือกันมา ผู้ใดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายนี้โดยพลการมิได้ นอกจากนั้นการพิจารณาตัดสินคดี ก็ต้องใช้วิธีสืบพยานโจทย์จำเลยตามที่บทพระอัยการกำหนด เพื่อชี้ว่าใครผิดหรือไม่ผิดเท่านั้น การตัดสินก็จะต้องมีการเชิญบทพระอัยการออกมาเปิดดูว่าความผิดเช่นนั้นจะตรงตามมาตราไหนและควรจะต้องกำหนดโทษแค่ไหนเพียงใด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นโทษปรับ และบทพระอัยการนั้นก็เป็นกฎหมายที่มีและใช้กันมาแต่ก่อน ไม่ใช่สิ่งที่องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้กำหนดขึ้นมา พระมหากษัตริย์ในยุคอยุธยา จึงมีแต่พระราชอำนาจที่จะออก ‘พระราชกำหนด’ ซึ่งพระราชกำหนดก็คือคำสั่งในทางบริหาร อันน่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘เอกเซคคูติฟ ออร์เดอร์’ อันเป็นคำสั่งที่พระมหากษัตริย์จะมีถึงข้าราชการของพระองค์ ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชประสงค์ ส่วน ‘พระราชบัญญัติ’ในสมัยโบราณนั้น ผมก็เห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามความหมายในปัจจุบันนี้อีก แต่เป็นเพียงคำวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องมาจากบทพระอัยการเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่ใช้กันมานานหลายร้อยปี จนถ้อยคำบางคำก็อาจจะแปลความกันไม่ออก หรือมิฉะนั้นความเห็นในการแปลก็ไม่สอดคล้องต้องกัน เป็นที่สับสนและเกิดความยากในการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ยามที่ตุลาการคนไหนเปิดบทพระอัยการแล้วยังหาข้อยุติอันเป็นที่ยอมรับกันไม่ได้ ก็จะต้องนำกรณีนั้นขึ้นกราบบังคมทูลต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงชี้ขาดว่าอะไรผิดอะไรถูก การวินิจฉัยบทพระอัยการนั้นจึงเรียกว่าพระราชบัญญัติ นี่คือความเห็นของผม ที่อยากฝากให้ทุกท่านพิจารณา เพราะฉะนั้น สถาบันพระมหากษตริย์ในสมัยศรีอยุธยา ถ้าจะเรียกว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยสมบูรณ์แบบ ผมก็ยังเห็นว่าไม่ได้อยู่ดี เพราะพระมหากษัตริย์ยังต้องอยู่ในขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ต่างๆในการบริหารที่ยึดถือกันมาแต่โบราณกว่าอีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆเหล่านี้เพิ่งจะมาได้รับการดูแลแก้ไขให้เหมาะสมขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ห้า และก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขกันมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งทีดีขึ้นและไม่แน่ว่าจะดีขึ้น จนกระทั่งมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในปึพ.ศ. 2475 สิ่งเหล่านี้ คือเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย แต่โบราณ ที่ผู้พูดยังแสดงความเห็นมาไม่ถึงครึ่งเรื่อง ใครที่คิดว่าเรื่องเหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่น่าอ่านน่ารู้ ก็ต้องขอเชิญติดตามกันต่อในตอนหน้าครับ