เสือตัวที่ 6
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.ศ...เนื่องด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก คำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวจึงถูกเห็นว่า ทำให้ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง โดยส่วนหนึ่งของความเห็นในที่ประชุมสภาฯ เห็นว่าคำสั่งของคณะ คสช. 14/2559 ดังกล่าวนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการคืองดใช้ทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษาฯ และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ทำหน้าที่แทนนอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับดังกล่าว ยังให้เลขาธิการ ศอ.บต. รับฟังข้อคิดเห็นจาก เลขาฯ กอ.รมน. โดยที่ประชุมสภาฯ เห็นว่าเป็นการให้อำนาจ กอ.รมน. มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ส่วนหนึ่งเห็นว่าที่จริงแล้วต้องเป็นบทบาทของฝ่ายพลเรือน นั่นก็คือ ศอ.บต.
ทั้งนี้ หากมีการแก้กฎหมายโดยออก พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าว จะเป็นการฟื้นคืนชีพ สภาที่ปรึกษาที่มีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมดังเดิมผ่าน พ.ร.บ. บริหารจัดการชายแดนภาคใต้ และจะทำให้สภาที่ปรึกษามีบทบาทมากขึ้นดังเดิม เพราะสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้มีอำนาจในการให้คำแนะนำแนวทางในการขับเคลื่อนแนวทางบริหารจัดการในพื้นที่อย่างมาก โดยเชื่อมโยงความต้องการของประชาชน การกำหนดระบบกฎหมายที่สอดคล้องกับคนในพื้นที่แห่งนี้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งประเด็นการเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเดินหน้าอย่างแข็งขันเข้มข้นอยู่ในห้วงนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวกำลังเดินหน้าตามความเห็นร่วมระหว่างคณะพูดคุยของรัฐกับผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อต้นเดือนกุมภาที่ผ่านมาด้วยหลักการตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ในหลักการ JCPP มี 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
เดิมสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับดังกล่าว มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ สามารถเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการในพื้นที่แห่งนี้ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยมีอยู่เดิมนั้น มีอำนาจในการจัดสรรคนที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งสามารถกำหนดแนวทางเป็นไปของการบริหารจัดการต่างๆ พื้นที่ผ่านการเสนอแนะที่มีน้ำหนักให้ต้องรับฟังโดยอ้างว่าเป็นเสียงของคนในพื้นที่ที่ยากจะถูกปฏิเสธจากผู้มีอำนาจรัฐโดยตรงเหล่านั้นจึงส่งผลให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรที่ทรงพลังและเป็นศูนย์รวมอำนาจในการชี้เป็นชี้ตาย ชี้ซ้ายชี้ขวาให้การเดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยอ้างความชอบธรรมจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันการคืนชีพของสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งนี้ จะทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ถูกลดบทบาทลง ถูกจำกัดอำนาจในการบริหารจัดการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่คณะ คสช.เคยให้ไว้ ด้วย คสช. หวังว่าเป็นการบูรณาการทิศทางการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาไว้ที่จุดเดียวนั่นคือ กอ.รมน.ที่มีทหารเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กร ไม่ให้เกิดสภาวะการต่างฝ่ายต่างเดินหน้าของ กอ.รมน. และ ศอ.บต. โดยมีสภาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น เป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งนั่นเอง
ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 ฯ ตลอดจนการยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในฯ และกฎอัยการศึกนั้น จะเห็นได้ว่าโดยองค์กรและการออกแบบระบบกฎหมายในพื้นที่ตลอดจนการลดบทบาทของทหาร โดยยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าว จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จึงเชื่อมโยงกับการที่สภาผู้แทนฯ ได้ตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหา จชต. และการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพที่กำลังขับเคลื่อนการพูดคุยตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ในหลักการ JCPP ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยการสร้างวาทกรรม เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยแอบซ่อนวิถีการปกครองของตนในรูปแบบที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการเป็นหลัก
การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในฯ และกฎอัยการศึกฉบับดังกล่าว จึงเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเดินหน้าตามหลักการ JCPP ที่ได้เห็นชอบร่วมกันกับบีอาร์เอ็นแล้ว โดยเปิดโอกาสให้แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้ามาร่วมแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยบีอาร์เอ็นมีเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องงดเว้นการดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นชั่วคราว พร้อมทั้งให้การคุ้มครองแกนนำเหล่านั้นในขณะที่เข้ามาร่วมให้ความเห็นในโอกาสต่างๆ รวมทั้งในสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะฟื้นคืนชีพครั้งนี้ด้วยเหล่านี้จึงเป็นการเชื่อมโยงสอดประสานการขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการเห็นต่างจากรัฐอย่างเป็นระบบและแยบยลยิ่ง