มีผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองกับผู้น่าเห็นใจทางการเมือง” แม้หัวข้อจะดูไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ เพราะหากจะหาผู้มีอิทธิพล ในฟากตรงกันข้ามก็น่าจะเป็นผู้ไร้อิทธิพลหรือไม่อย่างไร
แต่ก็เอาเถอะเมื่อตั้งประเด็นตามนี้ ก็ต้องว่ากันไปตามนี้( ถ้าอยากได้หัวข้ออื่นก็ต้องไปทำสำรวจเอง )
ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ออกมา ไม่เกินความคาดหมายนัก ที่นายทักษิณ ชินวัตร จะมีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 42.90
แต่ที่น่าสนใจก็คือในอันดับที่ 2 กลับเป็นชื่อของ นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 21.91 ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามมาอยู่ในอันดับที่ 3 ร้อยละ 17.40 และอันดับที่ 4 คือร้อยละ 15.11 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่อันดับที่ 5 ระบุว่าไม่มีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองไทย ร้อยละ 10.15 ส่วนน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หลุดไปอยู่ในอันดับที่ 6 ร้อยละ 9.01 และอันดับที่ 7 ร้อยละ 6.11 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ทีนี้ถ้าไปดูในเงื่อนไขของการตอบคำถามในข้อนี้ จะพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสามรถเลือกตอบได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก็น่าสนใจว่า หากกำหนดเงื่อนไขใหม่ ให้ตอบได้เพียงชื่อเดียว เสียงส่วนใหญ่จะยังคงเลือกนายทักษิณหรือไม่ คำตอบน่าจะอยู่ในใจของทุกท่านอยู่แล้ว
และที่น่าสนใจก็คือ จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ยังมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร หรือ 2 ลุง ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่
กระนั้น เมื่อหันมาดูในหัวข้อคำถามถึงบุคคลที่ประชาชนคิดว่าเป็นผู้ที่น่าเห็นใจทางการเมือง ซึ่งสามารถเลือกตอบได้ไม่เกิน 3 รายชื่อเช่นกัน พบว่า ส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 46.79 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ส่วนอันดับที่ 2 ร้อยละ 17.86 ระบุว่า ไม่มีใครที่น่าเห็นใจทางการเมือง มาที่อันดับที่ 3 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 11.45 และอันดับที่ 4 มีชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 10.46 อันดับที่ 5 คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 8.55 ส่วนร้อยละ 8.09 ระบุว่าเป็น นายทักษิณ ชินวัตร และอันดับที่ 7 ร้อยละ 1.91 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
นิด้าโพลไม่ได้ลงลึกไปถึงเหตุผล ที่ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ จึงเห็นว่านายทักษิณ เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง แต่หากจะให้อ่านใจบรรดากลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ก็คงจะคิดเห็นในทำนองเดียวกัน ว่านับแต่การเดินทางกลับไทยอย่างเท่ๆ ของนายทักษิณ และรัฐบาลข้ามขั้วนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เขาได้เข้าพักรักษาตัวจากอาการป่วยทีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กระทั่งได้รับการพักโทษมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าในปัจจุบัน ภาพการเข้าพบอย่างไม่เป็นทางการของอาคันตุกะ สมเด็จฮุนเซน ประธานองคมนตรีของกัมพูชา และการเข้าพบของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย
ส่วนกรณีของนายพิธา ที่กลุ่มตัวอย่างเทคะแนนให้เป็นผู้ที่น่าเห็นใจทางการเมือง ก็น่าจะมาจากการที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภา151 เสียงแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และพลาดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไม่ท่านั้นยังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.จากกรณถือครองหุ้นไอทีวี ก่อนจะหลุดพ้นพันธนาการและได้กลับมาทำหน้าที่สส. แต่ก็ต้องติดบ่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ การใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ที่ชะตากรรมแขวนอยู่บนเส้นด้าย ทั้งถูกยุบพรรคตัดสิทธิทางการเมือง และจริยธรรมร้ายแรง
แต่ทั้งหมดทั้งมวล หากพรรคก้าวไกลไม่เสนอแก้ไขมาตรา 112 นายพิธาก็คงไม่ต้องเผชิญกับวิบากรรมเช่นที่ผ่านมา และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องมีคำถามกลับไปยังผู้ทรงอิทธิพลในพรรคก้าวไกลที่เหตุใดจำทำร้ายนายพิธา