ไม่ว่าจะระมัดระวังอย่างไร สุดท้ายก็มีคนพลาดตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ ที่พัฒนาเทคนิคต่างๆ ยกระดับการหลอกหลวง ทั้งข้อมูลและเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาไปทั่วโลก โดยวิธีการก็แตกต่างกันไป แต่ในประเทศไทยนั้น มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและนำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราที่น่าเป็นห่วง
ซึ่งบรรดามิจฉาชีพเหล่านั้น มีทั้งในประเทศและนอกประเทศ ล่าสุดที่คนดังบ้านเราถูกหลอกกดลิงค์ จากการอ่านบทความข่าวสารเพิ่มเติม ทำให้ถูกดูดเงินคริปโตฯ ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกหลอกลวงให้ร่วมขบวนการอาชญากรรมนี้ ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่สมยอมและเห็นแก่รายได้ที่ได้มาง่ายๆเข้าร่วมขบวนการด้วยความสมัครใจในรูปแบบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย เรามีกฎหมายที่ออกมาเป็นพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ที่เราๆท่านๆควรรู้ คือ
1.ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม ไว้ชัดเจน และรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายทำธุรกรรมได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน
2. มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้
3.ผู้เสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับ พนักงานสอบสวนที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และ พนักงานสอบสวนนั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ อาญาซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีวิทยุสั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ไหน ต้องอำนวยความสะดวกผู้เสียหาย เร่งช่วยเหลือ
4. มีบทลงโทษเครือข่ายอาจจะทำที่รุนแรงขึ้นทั้งบัญชีม้า คนจัดหาบัญชีม้า
- ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า)
-ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า)
ฉะนั้น ใครที่อยู่ในวังวนนี้ เลิกได้เลิก มอบตัวกับเจ้าหน้าที่เสียเถอะ กรรมกำลังไล่ล่าคุณอยู่