วันเสาร์นี้เป็นวันพระใหญ่ คือวันมาฆบูชา ที่ทางการได้เพิ่มวันหยุดชดเชยให้ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ทำให้มีวันหยุดยาว 3 วัน มีเวลาไปไหว้พระทำบุญและท่องเที่ยวพักผ่อน หรือทัวร์บุญ กันได้มากขึ้น ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งแบตเตอรี่เติมพลังใจ พักผ่อนร่างกาย พักผ่อนสมอง
แม้คนในยุคปัจจุบัน จะไม่มีศาสนากันมาก ในเด็กรุ่นใหม่ที่ได้ยินได้ฟังมาบรรดาลูกหลานของเพื่อนฝูงและคนใกล้ตัวนั้น ไม่มีศาสนา แต่เคารพสักการบูชาเทพ เวลาจะสอบก็ไปไหว้ หรือบนบานศาลกล่าวกับเทพที่ตนเองเคารพบูชา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานศึกษาแห่งนั้นๆ หรืออยากได้งาน เงิน ความรัก หรืออยากได้แฟนที่ตรงตามสเป็คก็ไปไหว้ขอพรตามสถานที่ต่างๆ แม้แต่ในต่างประเทศเป็นต้น ซึ่งการขอพรตามความเชื่อและศรัทธานั้นเป็นคลื่นพลังงานอย่างหนึ่ง และอย่างน้อยก็เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
ที่ทำไปแล้ว ในสายขาวก็ดี ไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ดี เป็นมงคลแก่ตัวเองก็ดี แต่หากทำสิ่งใดที่เป็นอัปมงคล อย่างเช่น ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ที่ไปลง นะ ในที่ลับ หรือทำสิ่งที่เบียดเบียนตนเอง หรืออาจเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อถูกมิจฉาชีพก็ต้องระมัดระวังกัน
แต่ชาวพุทธทั้งหลาย ต้องเข้าใจหัวใจสำคัญของวันมาฆบูชา เนื้อหาสาระของ วันมาฆบูชานั้น เป็นวันสำคัญ ในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาติโมกข์ โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” คือ พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
2.พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึงผู้ที่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง
3.พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันตขีณาสพ หมายถึงผู้ที่ละซึ่งอาสวกิเลส 3 คือ กาม ภพ อวิชชา
และ 4. เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนมาฆะ
สำหรับ “โอวาทปาติโมกข์” แปลตามรูปศัพท์ คือ โอวาทที่เป็นประธาน หรือคำสอนที่เป็นหลักใหญ่ หรือ ธรรมที่เป็นหลักการสำคัญในทางพระพุทธศาสนา หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา
หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น เรียบง่ายเหลือเกิน นั่นคือ “ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส” (เรียบเรียงจากข้อมูล ของสำนักงานวัฒนธรรมพัทลุง https://www2.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=3609&filename=...)
ไม่เพียงแต่ชาวพุทธ ทว่าหากชาวโลกทุกศาสนา ยึดหลักการสำคัญนี้ ในการดำเนินชีวิต โลกของเราก็จะผาสุก