นโยบายที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจอย่างยิ่งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ในการเลือกตั้งก็คือ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
ซึ่งนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 5 เดือน มีการประชุมมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเดินไปทิศทางไหนอย่างไร
โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ โดยมีเพียงการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็น จากคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ชาติหรือ ป.ป.ช. โดยมีกรอบเวลาการทำงาน 30 วัน
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ถือคติ “ช้าแต่ชัวร์” แม้ขณะนี้จะยังอยู่ในไทม์ไลน์ที่เคยประกาศไว้ก็ตาม
“เป็นข้อเท็จจริง เพราะถ้าต้องเร่งก็จะมีข้อสังเกตว่า เรื่องของการกระทำไม่ถูกต้องหรือเปล่า เราเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้แถลงสถานการณ์จากกระทรวงพาณิชย์ว่ากำลังซื้อหด จะมีการช่วยพยุงราคา ค่าครองชีพต่าง ๆ ถ้ามัวแต่ทำเรื่องเก่า ๆ โดยตลอดก็จะเข้าไปสู่วังวนเดิม ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ถ้าต้องช้าไปเพื่อความถูกต้อง เพื่อได้รับความคิดเห็นในวงกว้าง ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็น” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ในส่วนของฝ่ายค้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล จากการแถลงของนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ เหมือนย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ เหมือนนับหนึ่งใหม่ กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่มีความแน่ชัดว่าจะออกเป็น ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปใช้แหล่งเงินอื่นแทน ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะพอมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะเข้ามา
“ถ้าเป็นแบบนี้ ก็เป็นการพายเรือในอ่าง ไม่จบเสียที เราอยากเห็นความหนักแน่นเด็ดขาด ว่าสรุปจะเอาอย่างไร บางทีมันต้องมีการฟันธงทุบโต๊ะ แม้ความเห็นหลายเรื่องจะรับฟังได้ แต่ถ้านโยบายเราคิดมาดีแล้วจริงๆ ก็จะต้องมีคำตอบกับทุกสิ่ง ว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ ทำไมถึงต้องมีการกู้ ทำไมถึงต้องให้กลุ่มนี้ ทำไมถึงเม็ดเงินจะเป็นจำนวนเท่านี้ เราต้องตอบได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีความเห็นใดเราก็จะสามารถที่จะรับฟังได้ แต่ก็จะสามารถตอบได้ทุกคำถามเหมือนกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ใครพูดอย่างหนึ่ง รัฐบาลก็กลับมาเปลี่ยนแปลง กลับมาปรับปรุงตลอดเวลา”
นั่นก็เป็นมุมมองของน.ส.ศิริกัญญา กระนั้น เชื่อกันว่า การยื้อเวลาออกไปนั้น ไม่ว่าจะหาทางลงหรือหาทางไปต่อ ที่คาดการณ์กันว่าจะมีปลายทางรออยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และหรืออาจจะเป็นหมากกลที่สำคัญ ในการดึงเรื่องออกไป เพราะนโยบายไม่ว่าจะดีเพียงใด หากแต่ต้องอยู่ที่จังหวะเวลาด้วย เพราะหากขับเคลื่อนไปแล้วอาจไม่มีใครจำจด ด้วยเดิมพันของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นสูงกว่าที่ผ่านมา