คำว่า  “แซะ”  ความหมายตามราชบัณฑิต หมายถึงการเอาเครื่องมือแบน ๆ เช่นตะหลิวหรือเสียมแทงเบา ๆ โดยรอบแล้วช้อนขึ้นให้หลุดล่อนจากที่เดิม เช่น แซะขนมเบื้อง, โดยปริยายหมายความว่า เร่งรัด เช่น ต้องคอยแซะให้ทำงานอยู่เรื่อย

ส่วนคำว่า “กระแซะ” ขยับกระทบเข้าไป เช่น ขยับตัวกระแซะเข้าไป พูดเลียบเคียงกระแซะเข้าไป

คำว่า “กระแซะ” นั้น หลายๆท่านน่าจะคุ้นเคยกับเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังในยุคหนึ่ง  “กระแซะเข้ามาสิ” ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เนื้อเพลงท่อนแรกติดหู และติดปากผู้คนในยุคนั้นก็คือ “เขยิบ เขยิบ เขยิบ เขยิบ เข้า มา ซิ กระแซะ กระแซะ กระแซะ กระแซะ เข้ามา สิ”

ปัจจุบันพาดหัวข่าวของสื่อต่างๆ  ใช้คำว่า “แซะ” ในความหมายในเชิงเหน็บแนม ถากถาง อนุมานว่าน่าจะกร่อนคำมาจาก “กระแซ” ข้างต้น  ในความหมายพูดเลียบเคียงกระแซะเข้าไป หากท่านผู้มีความรู้ทางด้านภาษาจะโต้แย้งให้ความรู้เพิ่มเติม ผู้เขียนจักขอบคุณยิ่ง

ในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจของพสกนิกรผู้จงรักภักดี กรณีมีกลุ่มบุคคลบีแตรและพยายามแทรกขบวนเสด็จ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เนื่องจากคลิปของผู้ก่อเหตุบันทึกเองและเผยแพร่เองในโลกออนไลน์เพื่อประกาศผลงานนั้น พบว่ารถขบวนเสด็จอยู่ทางด้านซ้ายและเปิดทางให้สัญจรได้ แต่กลับบีบแตรยาวและซ้ำกัน เจตนาอะไร เราๆท่านๆ นั้นสามารถวินิจฉัยเองได้ หากมีมโนสำนึกหรือไม่สร้างอคติบังตา โดยจะพบเห็นข่าวอยู่เนืองๆว่า เช่น ข่าวที่สาวขับขี่รถจักรยานยนต์ตกใจเสียงแตร หักรถตัดหน้าเก๋งจนเกิดอุบัติเหตุ หรือตกใจเสียงบีบแตร เหยียบคันเรงรถพุ่งเข้าบ้านก็มี ในยุคดิจิทัลสามารถหาข่าวอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากผลพวงของการบีบแตรที่ไร้กาลเทศะนี้มาอ่านเอาได้จากโลกออนไลน์ต่างๆ

พลจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มบุคคลที่จงรักภักดีองค์กรต่างๆ จึงจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดี เพื่อถวายกำลังใจด้วยการแต่งกายสีม่วง หรือผูกริบบิ้นสีม่วง เป็นสัญลักษณ์

ก็มีบางคน บางกลุ่ม ที่ทนดู ทนฟัง ความรักของคนอื่นไม่ได้  เกิดความ “ริษยา” จึง ออกมาโพสต์ข้อความ “กระแซะ” ต่างๆ นานา เพื่อกระทบโดยอ้อม

ตามหลักพระพุทธศาสนา ก็มี ศีลข้อ 4 เว้นจากมุสาวาท ละเว้นการพูดเท็จโกหกหลอกลวง ไม่ประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา