เคยเสนอความเห็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาไม่จ่ายหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ไว้ว่า หากเป็นไปได้ ควรมีแนวทางสนับสนุนให้ผู้กู้ยืมเหล่านั้น มีงานทำ เพื่อจะได้มีเงินมาใช้หนี้ แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการเบี้ยวหนี้ก็ตาม
แต่อย่างน้อยมีช่องและโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้น ได้มีอาชีพ แม้จะไม่เป็นสภาพบังคับเหมือนข้อผูกพันในการใช้ทุนรัฐบาล แต่ห่กเจตนารมณ์ที่ต้องการให้รุ่นพี่นำเงินมาใช้หนี้กองทุนเพื่อส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง การที่พวกเข้าเหล่านั้นจะมีโอกาสมากขึ้นก็น่าจะเป็นเรื่องดี
เมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐบาล โดยนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมการจัดหางาน ร่วมบูรณาการกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพิ่มโอกาสทางการศึกษาแบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครอง เพื่อหารือถึงแนวทางการกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ผู้กู้ยืมเงินมีงานทำ มีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีเงินสำรองยามเจ็บป่วยและสามารถชำระหนี้กองทุนฯตามกำหนดได้
นายคารม กล่าวว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้แนะนำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ที่รวบรวมตำแหน่งงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานชั้นนำไว้หลายตำแหน่ง เพื่อให้ผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่กำลังมองหางาน สามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ด้วยการ Matching ตำแหน่งงานตามความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่ หรือค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน ต่อยอดเพิ่มรายได้ โดยใช้บริการฟรีได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าบริการ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตำแหน่งงาน (Active ในระบบ) จากทั่วประเทศ จำนวน 179,267 อัตรา โดยตำแหน่งงาน 5 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. พนักงานขายของหน้าร้านและสาธิตสินค้า 2. เจ้าหน้าที่การตลาด 3. เจ้าหน้าที่สำนักงานอื่น ๆ 4. เจ้าหน้าที่บัญชี และ 5. ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด
“สำหรับคนหางานและทุกคนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มไทยมีงาน ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th และ Mobile Application ไทยมีงานทำ หรือหากไม่สะดวกใช้งานผ่านระบบออนไลน์ สามารถใช้บริการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694”
เราเห็นว่า แนวทางการดำเนินการของกรมการจัดหางาน ร่วมกับกยศ.นั้น ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดในเวลานี้ ทั้งนี้ ในอนาคตหากเป็นไปได้ หากมีการจัดหาคอนแท็กเฉพาะองค์กร ห้างร้านที่มีความต้องการแรงงาน ที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. และมีระบบจัดการเรื่องรายได้ แบ่งจ่ายเพื่อชำระหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเบี้ยวหนี้ หรือค้างจ่าย ในอัตราที่สามารถดำรงชีพได้ น่าจะช่วยแบ่งเบาปัญหานี้ไม่มากก็น้อย เพื่อความยั่งยืนของกองทุนตลอดไป