ข้อมูลสถิติของกรมคุมประพฤติ ระบุวันสุดท้ายของช่วงควบคุมเข้มข้น7วันปีใหม่ 2567 มีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวน ทั้งสิ้น 1,150 คดี ในจำนวนนี้มีคดีขับรถขณะเมาสุรา หรือว่าเมาแล้วขับ 1,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.65

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่..) พ.ศ. … ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับ 13) พ.ศ. 2565 รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 และครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์บุคคลที่อยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. วิธีตรวจหรือทดสอบ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีการ ดังนี้
1.1 ตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ
1.2 ตรวจจากเลือด (ต้องได้รับความยินยอม)
1.3 ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ โดยกำหนดให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะหรือของเสียอย่างอื่นด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น ซึ่งจากเดิมกำหนดให้ “ตรวจจากปัสสาวะ” เป็น “ตรวจจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ” เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

2. หน้าที่ของพนักงานสอบสวนและแพทย์ กรณีมีอุบัติเหตุจากการขับขี่และมีพฤติการณ์เชื่อว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ได้กระทำการฝ่าฝืนตาม ม.43 (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวหรือไม่ทุกกรณี ตามวิธีการตรวจหรือทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เดิมเจ้าพนักงานฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บางกรณี เช่น บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์

3. กรณีผู้ขับขี่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยการวัดจากลมหายใจ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้


3.1 ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเป็นหนังสือขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายบุคคล ภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ หรือด้วยวาจา วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น จากนั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ


3.2 ให้แพทย์เก็บตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่น และให้ออกหลักฐานเป็นหนังสือแสดงผลการตรวจพิสูจน์โดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมในสำนวนการสอบสวน


3.3 ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้แพทย์บันทึกการไม่ยินยอมนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีตามที่กำหนด

ทางที่ดีถ้าดื่มอย่าขับ จะได้กลับบ้านปลอดภัยทั้งตัวคุณ และสังคม