พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ กว่าที่บทความในคอลัมน์นี้จะปรากฏ (ผู้เขียน เขียนบทความนี้ก่อนวันเลือกตั้ง 8 พ.ย.) คงทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของคนอเมริกันไปเรียบร้อยแล้วว่าระหว่างนางคลินตันกับนายทรัมป์ ใครจะได้เป็นผู้นำอเมริกาหรืออาจเรียกได้ว่าผู้นำโลกคนใหม่แทนนายโอบามา คำถามที่ได้ยินมามากไม่ว่าจะฝั่งไทยหรือฝั่งอเมริกาก็คือ การเปลี่ยนตัวผู้นำอเมริกันจะเปลี่ยนประเทศอเมริกาไปมากน้อยขนาดไหนและหากเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปทิศทางใดอย่างที่ทราบจากบทเรียนของการเลือกตั้งผู้นำอเมริกันแต่ละครั้ง โดยเฉพาะในปี 2008 อันเป็นปีเข้าวินของบารัก โอบามาที่เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกา แล้วลองมาสรุปบทเรียนกันก็จะเห็นว่าการเมืองอเมริกันเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน? อย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อยในอเมริกา และผลกระทบต่อพันธมิตรของอเมริกาตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่า คนไทยทั้งในอเมริกาและในเมืองไทยควรสนใจระหว่างนางฮิลลารีกับนายทรัมป์ ที่มีภาพลักษณ์ของบุคลิกภาพ และนโยบายที่แตกต่างกันอย่างค่อนชัดเจน โดยสิ่งที่หลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันในแง่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอเมริกันก็คือ นโยบายของผู้สมัคร หรือแคนดิเดทประธานาธิบดี ที่ชัดเจน ตรงไปตรงมามากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนโยบายหาเสียงจะทำได้หรือทำไม่ได้นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนโยบายของโอบามาหลายเรื่องที่เคยหาเสียงก็ทำไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะนายโอบามาเองมิใช่จะสั่งสมาชิกคองเกรสให้ซ้ายหันขวาหันตามใจตนเองได้ทุกเรื่อง และนี่เป็นเรื่องปกติของการปกครองภายใต้กติกาประชาธิปไตยในการเลือกตั้งใหญ่ทุกครั้ง นอกจากต้องดูที่ตัวประธานาธิบดีแล้ว จึงยังต้องดูไปถึงจำนวนสมาชิกคองเกรสหรือแม้แต่จำนวนซีเนเตอร์ของแต่ละพรรคว่าเป็นอย่างไร พรรคไหนได้มากน้อยกว่ากัน เพราะนี่คือการดุลอำนาจกันตามระบบแยกอำนาจระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีอเมริกันจึงไม่ใช่อำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตาม แม้ประธานาธิบดีจะไม่ใช่อำนาจสูงสุดก็ตาม ระบอบการเลือกตั้งแบบอเมริกันก็ยังสามารถสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนได้ว่า ประชาชนพลเมืองอเมริกันต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร มิใช่ผู้นำจะเผด็จการเอาแบบหัวชนฝา ไม่แคร์เสียงของคนโหวตเอาเลย หมายถึงผู้โหวตลงคะแนนเอก็โหวตไปตามความต้องการของตนเองอย่างอิสระ เพื่อให้เจตจำนงของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา การเมืองอเมริกันจึงเป็นมิติการเมืองของประชาชนแบบแทบสมบูรณ์แบบ ซึ่งนั่นก็ทำให้จินตนาการของผู้คนหรือแม้แต่บางนักวิเคราะห์ เชื้อชาติหรือสัญชาติอื่นเข้าไม่ถึงหากจะว่าการเมืองของอเมริกัน เป็นอารมณ์ร่วมของประชาชนก็ย่อมได้แม้คนอเมริกันส่วนใหญ่จะทราบว่าความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินมิอาจเกิดขึ้นได้ก็ตาม เพราะระบบการเมืองอเมริกันเป็นระบบที่เปรียบเสมือนภูเขาไฟที่ผ่านการปะทุจนเย็นลง (ช่วงที่ปะทุก็คือ สงครามกลางเมือง) จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วและเพราะจำนวนประชากรกว่า 300 ล้านคน บนพื้นที่เกือบทั้งทวีปอเมริกา ท่ามกลางความหลากหลายของเผ่าพันธุ์นานา ย่อมไม่ง่ายที่จะสถาปนาการเปลี่ยนแปลงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าเป็นทรัมป์หรือฮิลลารี สายน้ำย่อมไหลลงที่ต่ำเสมอ ไม่ได้หมายความว่าการเมืองอเมริกันไม่มีการพัฒนา หรือไร้ซึ่งพัฒนาการ หากการเมืองอเมริกันมีธรรมชาติที่ค่อนข้างแน่นอนชัดเจน อย่างน้อยนักการเมืองอเมริกันต่างมีความรู้สึกและปฏิกิริยากับ “นิวเวิร์ลด์ออร์เดอร์” หรือกับการวางตำแหน่งแห่งหนบนโลกของอเมริกากันทุกคน นั่นคือตัวตนบนโลกนี้ของอเมริกา ที่นำมาซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกของอเมริกาท่ามกลางกล้องโทรทัศน์ของสื่อมวลชนจำนวนมากที่ส่อง(จับตา) ณ ทำเนียบขาวตลอด 24 ชั่วโมง หรือแม้จนตามห้องต่างๆ ในตึกคองเกรส ณ แคปปิตอล ฮิลล์ ที่สำคัญคือ พวกเขาเป็นสื่อนานาชาติ (แน่นอนว่า ยังคงไร้สื่อไทยเช่นเคย) “ปรากฎการณ์โอบามา”เมื่อ 8 ปีที่แล้ว น่าจะมากกว่าปรากฏการณ์หลังผลการเลือกตั้งในปี 2016 นี้ หากดูถึงบริบทของอารมณ์ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองอเมริกัน มิใช่เพราะความต่างกันระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม ของสองพรรค หากแต่กระแสความเชื่อต่อความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของอเมริกันชนมีน้อยตะหาก อเมริกันจำนวนไม่น้อย ไม่สนใจการเมืองเลย หากใครไปถามเรื่องการเมืองกับคนกลุ่มนี้ อาจถูกพวกเขาตะเพิดเอาได้ แต่ในประเทศนี้ ไม่มีใครคิดว่าพวกเขาล้าหลังเนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิ์ เพราะการไม่ไปใช้สิทธิ์ก็เป็นสิทธิ์ประเภทหนึ่งเหมือนกัน ก่อนหน้าการเลือกตั้งจึงมักเห็นภาพของการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในบรรดาคนเชื้อสายต่างด้าว เช่น ในไชน่าทาวน์ทุกแห่ง มากกว่าอเมริกันรณรงค์กันเอง นั่นอาจเพราะว่า คนส่วนใหญ่ตระหนักว่าการไปใช้สิทธิ์ดังกล่าว เป็นสำนึกของแต่ละบุคคลมากกว่า มากกว่าการบอกว่า “การไม่ไปออกใช้สิทธิ์เป็นสำนึกที่ผิด”มันจึงไม่มีบทลงโทษใดๆ ต่อคนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ การสร้างภาพและลงทุนด้วยงบประมาณของรัฐเพื่อให้ภาพดูเป็นประชาธิปไตยในกรณีนี้จึงไม่มีโดยที่อเมริกันเอง มีครรลองประชาธิปไตยของพวกเขาอยู่แล้วตั้งแต่ สภาชาวบ้านเล็กๆ (assembly) อยู่แล้วทุกๆเมือง ไม่ใช่จะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว พวกเขามีการเลือกตั้งในทุกระดับ ตามลักษณะของอำนาจที่มิได้รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว อำนาจที่กระจายไปทุกแห่งหนท้องถิ่น การเลือกตั้งที่แม้แต่(การเลือก) ผู้พิพากษาที่มีบัลลังก์ตัดสินคดีความอยู่ใกล้ฟาร์มปศุสัตว์ หรือมีสำนักงานศาลอยู่ลึกท่ามกลางดงต้น Joshua ในเขตทะเลทรายอย่างโมฮาเว่ (Mojave) ที่ยังไม่เคยเห็นสื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาหรือจากเมืองไทย เดินทางเข้าไปถึง นอกจากมหานครใหญ่อย่างแอล.เอ.หรือนิวยอร์คเพื่อความเท่ห์ในการทำข่าวเลือกตั้งอเมริกันทุกครั้ง