ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

ช่วงเวลานี้ของทุกๆปี จะเรียกว่าเป็นช่วงเวลา “สำลักฝุ่น” ประจำปีของคนไทย ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด ทำไมฝุ่นจึงเยอะในช่วงนี้ และจะแก้ไขกันยังไงได้บ้าง เดี๋ยววันนี้จะเล่าให้อ่านกันครับ

ฝุ่น PM2.5 ที่เราคุ้นเคยกันดีในช่วง 4-5 ปีให้หลังนี้ จากการศึกษาพบว่ามีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน ซึ่งสามารถสรุปรวมๆได้ 4 แหล่งหลักๆ ได้แก่ 1) การคมนาคม 2) อุตสาหกรรม 3) การเกษตร และ 4) ฝุ่นข้ามแดน

ฝุ่นจากภาคคมนาคมนั้นหลักๆเกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ ซึ่งประกอบไปด้วยรถยนต์เบนซินและดีเซล แน่นอนว่าอย่างที่เราๆทราบกันดี รถยนต์ดีเซลมักจะก่อให้เกิดควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่ารถยนต์เบนซิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์เบนซินจะไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 นะครับ รถยนต์ที่มีการสันดาปทั้งสองแบบจึงเป็นบ่อเกิดของฝุ่น PM2.5 ทั้งสิ้น ซึ่งฝุ่นที่เกิดจากการคมนาคมนี้จะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นในเมือง

ฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม เกิดจากการผลิตต่างๆจากอุตสาหกรรมทั้งน้อยใหญ่ รวมไปจนถึงการก่อสร้างต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นในเมือง และพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ

อันดับต่อมาเห็นจะหนีไม่พ้นการเกษตร การเผาทางการเกษตรนั้นเป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างช้านานแล้ว เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตก็คงไม่ผิด การเผามักเกิดขึ้นในช่วงเวลาของหลังการเก็บเกี่ยวและการเตรียมตัวสำหรับปลูกรอบต่อไป เนื่องจากโดยมากในกระบวนการเก็บเกี่ยวบางชนิด เช่นอ้อย ในกรณีที่ไม่มีเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวโดยคนทำได้ยากลำบากเนื่องจากต้องต่อสู้กับใบอ้อยที่มีความคม การเผาจึงกลายเป็นวิถีจำเป็นอย่างหนึ่งเพื่อทำให้การเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น หรือในกระบวนการเตรียมตัวปลูกรอบต่อไปภายหลังการเก็บเกี่ยว การเผาก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกร “เคลียร์” พื้นที่ได้รวดเร็ว แต่อย่างไรก็ดี วิถีชีวิตแบบนี้ก็มีผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นในต่างจังหวัด

อันดับสุดท้าย ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือฝุ่นที่ข้ามแดนเข้ามาในไทย ฝุ่นเหล่านี้อาจเกิดจากแหล่งที่มาหลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ แล้วล่องลอยมาตามลมจนเข้ามาในประเทศไทย แน่นอนว่าบางส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ล่องลอยไปประเทศอื่นเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มเติมจากฝุ่นที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

มีนักวิจัยเคยทำการศึกษา โดยการติดตามกลุ่มหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย ว่าสุดท้ายแล้วไอ้กลุ่มควันกลุ่มนี้ จะสามารถลอยไปได้ถึงไหน ปรากฏว่า ผลการศึกษาเล่นเอาตกใจกันเลยทีเดียว เพราะกลุ่มควันจากอินโดนีเซียนั้น สามารถลอยไปได้ถึงเกาหลีครับท่านผู้ชม ดังนั้นไม่ต้องสืบเลยว่าฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านจะกระทบเราหรือไม่

ว่าแต่ ทำไมมันมักจะเกิดในช่วงหน้าแล้ง....ทั้งๆที่กิจกรรมต่างๆที่กล่าวมานั้นก็มีตลอดทั้งปี ?

สาเหตุสำคัญนั้นเป็นเพราะฝุ่นเหล่านี้ ปะปนอยู่กับ “อากาศ” ครับ เรียกว่าเกาะอยู่กับอากาศ อากาศลอยไปทางไหนก็ไปด้วย ว่างั้นเถอะ

ทีนี้ โดยปกติโดยทั่วไปแล้ว อากาศจะเคลื่อนตัวจากที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปยังอุณหภูมิต่ำกว่า ดังนั้นในช่วงเวลาทั่วๆไป อากาศก็จะลอยจากพื้นดินขึ้นไปบนฟ้า (เพราะบนฟ้าอุณหภูมิต่ำกว่า) แล้วก็จะหอบเอาฝุ่นเหล่านี้ลอยตัวขึ้นไปด้วย ทำให้เรามองไม่เห็นเป็นหมอกควันเทาๆ เหมือนในช่วงปลายหน้าหนาว

แต่ทีนี้ ในช่วงปลายฤดูหนาว เราได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ทั้งเย็นลงร้อนขึ้น สารพัด ซึ่งผมขอไม่ลงในรายละเอียดในที่นี้นะครับ เพราะพื้นที่คงไม่พอแน่ๆ แต่เอาเป็นว่า สรุปได้ว่า การผันผวนของอุณหภูมิซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาวนี้ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะอุณหภูมิผกผัน” และก่อให้เกิดชั้นอากาศอุ่นที่เปรียบเหมือนกับฝาชีที่ครอบเมืองเอาไว้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “อากาศปิด” นั่นเอง

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปที่หลักการว่า อากาศร้อนจะเคลื่อนตัวไปหาอากาศเย็น เมื่อมีฝาชีที่อุ่นมาครอบ แทนที่อากาศจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่เย็นกว่า ก็ไปเจอฝาชีเข้า อากาศที่มีฝุ่นอยู่ด้วยก็เลยไม่สามารถลอยขึ้นสู่บรรยากาศได้ กลับถูก “ขังอยู่ในฝาชี” ซึ่งอากาศที่ปิดนี้ก็จะทำให้ไม่มีลม ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นหมอกเทาๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาวแทบทุกปีนั่นเอง และเป็นช่วงที่คนไทยสำลักฝุ่นประจำปีกัน

สัปดาห์นี้พื้นที่หมดเสียแล้ว คงได้เล่าแค่สาเหตุคร่าวๆแบบเข้าใจง่ายๆของปัญหาช่วงนี้ เดี๋ยวสัปดาห์หน้าผมจะมาเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ทุกท่านได้อ่านกันต่อนะครับ

ยังไม่เอวัง เพราะมีต่อ