ทวี สุรฤทธิกุล
พรรคการเมืองคือภาพสะท้อนความต้องการของ “ผู้คน” ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งก็หมายถึงในสมัยนั้น ๆ ผู้คนกลุ่มใดคือพวกที่มีอำนาจ
ประเทศไทยถูกปกครองโดยพระมหากษัตริย์และทหารมาเป็นเวลาช้านาน แม้แต่ตอนที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทหารก็คือแกนนำสำคัญในการยึดอำนาจ แต่กระนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้สิ้นอำนาจไป กลุ่มคณะราษฎรที่เป็นที่รู้กันว่ามีกลุ่มข้าราชการพลเรือนเป็นมันสมอง แรก ๆ ก็สมานสามัคคีกับทหารไว้ด้วยดี ต่อมาก็เกิดแย่งชิงอำนาจกัน ถึงขั้นไม่เผาผีกันตั้งแต่ที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พลเรือนหักหลังทหาร ด้วยการโยนความผิดเรื่องที่ไปร่วมรบกับญี่ปุ่นให้กับผู้นำทหาร แล้วพลเรือนก็ชุบมือเปิบขึ้นเถลิงอำนาจ แต่ก็ขึ้นมาได้เพียงชั่ววูบ เพราะเพียง 2 ปีต่อมา ภายหลังเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ทหารก็กลับมาโค่นล้มพลเรือนออกไป แล้วสถาปนาระบอบขุนศึกขึ้นอย่างแข็งกร้าว ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่มีบทบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2532 ในตอนที่ผู้เขียนทำวิจัยให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเรื่องประวัติศาสตร์บอกเล่าการเมืองไทยในความทรงจำของท่าน ต่อคำถามว่าที่ท่านตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกขึ้นในยุคที่พลเรือนมีอำนาจนั้น “เป็นด้วยวัตถุประสงค์ใด” คำตอบที่ท่านตอบก็คือ “เพื่อป้องกันไม่ให้หลวงประดิษฐ์ (นายปรีดี พนมยงค์) ได้อำนาจ”
เรื่องนี้ต้องขยายความสักเล็กน้อย คือเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงคราม แม้ว่าในที่สุดก็ไม่ได้ลงโทษเอาผิดอะไร แต่ก็ทำให้ทหารต้องถอยบทบาทออกไปจากการเมืองชั่วครู่ ฝ่ายพลเรือนในประเทศไทยก็มีนายปรีดี พนมยงค์ กุมอำนาจอยู่ และได้ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยที่สหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ครั้นเสร็จสิ้นก็มีการเลือกตั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ชวนพรรคพวกมาตั้งพรรคการเมือง ชื่อว่าพรรคก้าวหน้า ได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง แต่ ส.ส.ในฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดีมีมากกว่า และได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองในภายหลัง ชื่อพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงยุบพรรคก้าวหน้าเพื่อไปรวมกับ ส.ส.ฝ่ายที่ไม่เอานายปรีดี ตั้งขึ้นเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ให้นายควง อภัยวง์ แกนนำคณะราษฎรอีกคนหนึ่งที่มีบารมีพอเทียบเคียงกับนายปรีดีได้บ้าง ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เป็นเลขาธิการพรรค (ตอนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีอายุเพียง 35 ปี) แต่ก็เสียงไม่พอ ทำให้นายปรีดีได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็อยู่ในอำนาจแค่ช่วงสั้น ๆ เพราะเมื่อเกิดกรณีวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 นายปรีดีก็ถูกทำรัฐประหาร และถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับกรณีสวรรคตดังกล่าว จนต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย (และไม่ได้กลับมาอีก จนกระทั่งถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. 2526)
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาตั้งพรรคการเมืองอีกในพ.ศ. 2517 ในชื่อว่าพรรคกิจสังคม ซึ่งผู้เขียนก็ได้ทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโท ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อพ.ศ. 2528 เกี่ยวกับพรรคการเมืองพรรคนี้ โดยได้ไปสัมภาษณ์ผู้นำของพรรคหลายท่าน ย่นย่อว่า หลังจากวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่หลายคนในยุคนั้นเชื่อว่า “ฟ้าใหม่ทางการเมือง” ได้บังเกิดขึ้นแล้ว กระแสการตื่นตัวของประชาชนเป็นไปอย่างคึกคัก มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือฉบับ พ.ศ. 2517 ที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีการเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะพรรคการเมืองในแนวสังคมนิยม ที่รวมถึงพรรคกิจสังคมนั้นด้วย แต่มีลักษณะที่เป็นลูกผสม คือผสมกันระหว่างสังคมนิยมกับทุนนิยม
คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งพรรคกิจสังคม คือ นายบุญชู โรจนเสถียร ตอนนั้นท่านเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพจำกัด ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในสมัยนั้น และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในชุดสภาสนามม้าในปลายปี 2516 นั้นด้วย นายบุญชูเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ตั้งแต่ที่เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการบัญชีชั้นสูง (เทียบเท่าปริญญาโท) ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วง พ.ศ. 2488 - 2489 โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้สอนวิชาเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร นายบุญชูจึงมีความนับถือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอย่างยิ่ง และไปมาหาสู่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เป็นประจำ เพราะนอกจากจะเป็นอาจารย์และลูกศิษย์กันแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังเป็นนายธนาคารคนสำคัญ เพราะเป็นถึงรองประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการจำกัด ที่แม้จะเป็นธนาคารที่เล็กกว่าธนาคารกรุงเทพจำกัดของนายบุญชูมาก แต่ก็เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นก่อน และเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงอยู่ในยุคนั้นเช่นกัน
ในปี 2517 ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ตอนนั้นก็มีสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนจับกลุ่มกันเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองอยู่ในสภานั้นแล้ว มีชื่อเรียกตามสถานที่ที่ไปชุมนุมกันเป็นประจำและจำนวนสมาชิกในกลุ่มว่า “กลุ่มดุสิต 99” เพราะไปประชุมพบปะและสังสรรค์กันเป็นประจำที่โรงโรมดุสิตธานี ของนางชนัตถ์ ปิยะอุย สมาชิกสภานิติบัญญัติอีกท่านหนึ่ง โดยมีจำนวนสมาชิกในกลุ่ม 99 คนดังกล่าว ซึ่งนายบุญชูก็อยู่ในกลุ่มดุสิต 99 นี้ด้วย รวมถึงคนดัง ๆ เช่น นายบรรหาร ศิลปะอาชา ที่ต่อมามาเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งพรรคชาติไทย
นายบุญชูมองว่าในกลุ่มดุสิต 99 มีแต่นายทุนเป็นส่วนใหญ่ และนายทุนจำนวนมากก็ยังหวังแอบอิงทหาร ในขณะที่สังคมไทยในยุคนั้นเพิ่งผ่านยุคของการโค่นล้มทหารมาหมาด ๆ และคนรุ่นใหม่(ในยุคนั้น)ก็กำลังเห่อเสรีภาพ รวมถึงความเสมอภาคเท่าเทียม ดังที่จะเห็นได้ว่าแนวคิดสังคมนิยมกำลังร้อนแรง มีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมเกิดขึ้นมากมาย นายบุญชูจึงเสนอแนวคิดที่จะประสานทุนนิยมเข้าด้วยกันกับสังคมนิยม ร่วมกับความเป็นสมัยใหม่หรือการสร้างสังคมใหม่ ชื่อ Social Action Party จึงผลุบขึ้นมา และนายบุญชูได้นำแนวคิดนี้มาปรึกษากับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะเห็นชอบด้วย
ลองนึกถึงสังคมไทยใน พ.ศ.นี้ การที่พรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เข้ามามากมายจนเกินคาดหมาย ก็น่าจะมี “ปัจจัย” คล้าย ๆ กับการที่พรรคแนวสังคมนิยมต่าง ๆ ได้รับความนิยมเมื่อ 50 ปีก่อนนั้น ตอนนั้นคนที่มีอำนาจคือนิสิตนักศึกษาที่โค่นล้มทหาร และต้องการสร้างสังคมที่ไร้อภิสิทธิ์ ตอนนี้ก็กลับมาเป็นยุคที่คนหนุ่มสาวมีอำนาจ เขาก็ต้องการที่จะสร้างพรรคเพื่อให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจนั้น
ผู้เขียนเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้เกลียดชังกษัตริย์ แต่จะเกลียดชังอะไรนั้น คงจะต้องมาอธิบายในสัปดาห์ต่อไป