แม้ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคก้าวไกล” ต่างอยู่ในสถานะเดียวกัน หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะอยู่บนเรือลำเดียวกัน !
ยิ่งเมื่อ พรรคก้าวไกล มีจุดยืนต่อ “มาตรา 112” เป็นแม่นมั่น ว่าต้องการ “แก้ไข” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คนของพรรคเองก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับ “ม็อบราษฎร” ที่ประกาศตัวชัดเจน ชูธง ให้ “ยกเลิก” เท่ากับ จุดยืนและนโยบายของพรรคก้าวไกล เป็น “เงื่อนไข” ทำให้พรรคพวก เพื่อนพ้อง ต้อง “ทิ้งระยะ” มาตั้งแต่แรก
ไม่ใช่เพราะเมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัย ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ผ่านมาเท่านั้น
หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อกลางปี 2566 ประเด็นว่าด้วยการยกเลิกและแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็น “วาระร้อน” ที่ถูกนำไปดีเบตแทบทุกเวทีของการหาเสียง จนทำให้ พรรคก้าวไกล ขณะนั้นที่มี พิธา เป็นหัวหน้าพรรค หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพูด เนื่องจากพรรคใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง ซึ่งแน่นอนว่าในห้วงเวลานั้นพรรคก้าวไกล ประเมินแล้วว่า ได้รับการ “ตอบรับ” ด้วยดี
ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ กลับประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ไม่เอาด้วย และไม่มีความคิดที่จะแก้ไข มาตรา 112 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีเอาไว้เพื่อปกป้อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ที่ต้องการช่วงชิง “ฐานเสียง” จากกลุ่มเดียวกันกับพรรคก้าวไกล จึงได้มีการพูดถึงเรื่องมาตรา 112 จนทำให้ สว. เองเคยตั้งแง่จะไม่โหวตให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นเป็นนายกฯมาแล้ว
เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ เองประกาศจุดยืนว่าไม่แตะมาตรา 112 มาตั้งแต่แรก ดังนั้นเมื่อวันนี้ประชาธิปัตย์ ต้องจำใจเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล แต่จำเป็นต้อง “ประกาศ” จุดยืนอีกครั้ง
“ คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แน่นอนมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ มีทั้งคนชนะและคนที่แพ้คดี แต่ทุกคนต้องน้อมรับคำตัดสินของศาล ไม่เช่นนั้นหลักการของบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ คดีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชนะได้กลับเข้าสู่สภา โห่ร้องไชโย พออีกคดีพรรคก้าวไกลแพ้ มีมวลชนโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กลับด่าทอ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างเสียหาย พอชนะรูดซิปใส่กระเป๋าเงียบกริบ พอแพ้กลับทำตรงกันข้ามกัน แกนนำต้องอธิบายมวลชนให้เข้าใจอย่าส่งเสริมให้ท้าย” ราเมศ รัตนชเวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคอื่นๆ ที่แม้จะมีความแนบแน่นกับพรรคก้าวไกล มากกว่าประชาธิปัตย์ ต้องทบทวนและเว้นระยะให้ห่างจาก พรรคก้าวไกลตามมาด้วยหรือไม่
แม้ล่าสุดพรรคร่วมฝ่ายค้านเพิ่งผ่านพ้นดินเนอร์ มื้อพิเศษ ไปหมาดๆก็ตาม แต่ว่ากันว่ามื้อนี้ เป็นการกระชับมิตร ที่ไม่ได้แน่นหนา แต่อย่างใด !